เวลา 17.24 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI (Botanic Gardens Conservation International) และสวนจากภูผาสู่มหานที ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล
นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิกมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และนางวันทนีย์ วัฒนะ กรรมการมูลนิธิฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาการจัดสร้าง แล้วทรงเปิดสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรี โดยวงเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย นายวิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช 2560 ในเพลงต้นไม้ของพ่อ ขับร้องโดย นายธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช 2565 ร่วมกับศิลปินนักร้องจากโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง พร้อมการแสดงประกอบเพลงจากคณะนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง และคิดบวกสิปป์ กำกับการแสดงโดย นายยุทธนา และนายกล้ากูล อัครเดชานัฏ นักแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุงรุ่นแรก ได้แก่ องก์ที่ 1 เปิดป่า, องก์ที่ 2 หยั่งรากพระบารมี, องก์ที่ 3 พฤกษชาติรื่นรมย์, องก์ที่ 4 ส่งต่อพระราชปณิธาน และองก์ที่ 5 พระเมตตาบารมี รัชกาลที่ 10 รวมทั้งเพลงตามรอยความดี ที่ประพันธ์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
จากนั้น ทอดพระเนตรแบบจำลองและนิทรรศการสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพื้นที่ 200 ไร่ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 เพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รูปแบบการจัดสวนเป็นไปตามหลักระบบนิเวศ และความหลากหลายของพืชพรรณ เช่นเดียวกับผืนป่าในธรรมชาติ ให้เป็น "ป่าเล็กในเมืองใหญ่" ที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นสวนป่า สวนดอกไม้สวยงามร่มรื่น เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นปอดให้คนกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิจัยพรรณไม้ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนช่วยกันรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ แต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ให้พัฒนาและดูแลรักษาสวนฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้พัฒนาสวนในทุกด้าน เพื่อก้าวสู่การเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์ตามข้อกำหนดมาตรฐานขององค์การสวนพฤกษศาสตร์สากล หรือ BGCI และได้รับการรับรองเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นสวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากลแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร และเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ
ส่วนสวนจากภูผาสู่มหานที มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 26 ไร่ ซึ่งเป็นที่ว่างผืนสุดท้ายใน 200 ไร่ เชื่อมต่อกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยน้อมนำพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชเสาวนีย์ "ปลูกป่าในใจคน" มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ รวมทั้งเพื่อบอกเล่าพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศ และพระราชทานโครงการพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย
โดยเก็บรวบรวมพรรณไม้นานาพันธุ์จากทั่วประเทศ, พรรณไม้ทรงปลูกในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่บนที่สูง จนถึงในที่ลุ่ม ตามแนวคิด "จากภูผาสู่มหานที" ด้วยการสร้างให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่, มีพื้นที่ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการปลูกป่า พื้นที่พักผ่อน และสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่เรียนรู้เส้นทางศึกษาพรรณไม้ทรงปลูก พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าเศรษฐกิจ เนินทุ่งดอกหญ้า บ่อเป็ด ชลประทานจำลอง พื้นที่ลุยน้ำ หอชมวิว ศาลาริมน้ำ สะพานชมวิว ป่าทึบ ลานบัว สวนกล้วยเดิม อัฒจันทร์หญ้า อัฒจันทร์ริมน้ำ อาคารฝึกอบรม และอาคารอเนกประสงค์
จากนั้น ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง แล้วทรงปล่อยปลาคาร์ป ที่สระในสวนจากภูผาสู่มหานที โดยได้พระราชทานลูกปลาคาร์ปทรงเลี้ยง 172 ตัว รวม 6 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์โคฮากุ พันธุ์อากา มัทจึบะ พันธุ์คิอุจึริ พันธุ์เบนิกอย พันธุ์คาราชิกอย และพันธุ์คาราชิโกโยะ สำหรับให้ประชาชนที่มาพักผ่อนได้เพลิดเพลินกับความสวยงาม และศึกษาประโยชน์ของปลาคาร์ป รวมทั้งเรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศ โดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ บรรเลงและขับร้องเพลงแม่แห่งแผ่นดิน ซึ่งอัญเชิญคำขวัญพระราชทาน เนื่องในวันแม่แห่งชาติ พุทธศักราช 2550 คือ "ข้าวในนา ปลาในน้ำ คำโบราณ คือตำนานความอุดม สมบูรณ์สิน ฝากลูกไทย ร่วมหวงแหน รักแผ่นดิน ถนอมไว้ อย่าให้สิ้น แผ่นดินไทย" มาเป็นส่วนหนึ่งของการประพันธ์เพลง
เวลา 18.59 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ) เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม พร้อมด้วยพระครูวิจิตรสีลาภรณ์ (ปราณี สุปภาโต) เจ้าอาวาสวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนครสวรรค์ และพระสงฆ์ เฝ้า ถวายเสาเทียนชัยมงคล พร้อมฐานรองรับ จำนวน 10 ต้น ซึ่งทำจากไม้มงคล 3 ชนิด ได้แก่ ไม้สักทอง ไม้พะยูง และไม้ขนุน แกะสลักลายไทยปิดทองคำเปลว เพื่อใช้บรรจุเทียนชัยมงคลสำหรับจุดถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระแผนที่ประเทศไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อพระราชทานแก่วัดและเทวสถาน ตามพระราชอัธยาศัย
เสาเทียนชัยมงคลนี้ ออกแบบและจัดสร้างโดยพระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ) เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เสาเทียนชัยสร้างขึ้นจากทองสัมฤทธิ์ รูปทรงกระบอกเทียนแห สูง 173 เซนติเมตร ภายในกระบอกบรรจุน้ำ เพื่อให้เปลวไฟที่ยอดเทียนชัยลอยพ้นเหนือน้ำอยู่ได้ตลอดเวลา โดยรอบเสาประกอบด้วยตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตราสัญลักษณ์วัดราชผาติกราม และตราสัญลักษณ์วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ฯ รูปเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ รูปจักรราศี 12 ราศี รูปเทพนักษัตร 12 ราศี ปลายยอดเสามีรูปปั้นลวดลายมังกร ฐานมีรูปปั้นลวดลายพญานาคพ่นน้ำ ยอดเสามีดอกบัวบาน 3 ชั้น กว้าง 30 เซนติเมตร เสาเทียนชัยวางอยู่บนฐานทรงน้ำเต้า มียักษ์แบกอยู่บนฐานบัวคว่ำ กว้าง 47 เซนติเมตร ปากพญานาคมีที่ระบายน้ำออกได้ เพื่อใส่เทียนชัยมงคลสำหรับจุดถวายพระพร