พบ “นากเล็กเล็บสั้น” และ “นากใหญ่ขนเรียบ” นากหายาก 2 ชนิด ในลำน้ำเพชรบุรี พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก
วันนี้ (28 ก.พ.68) นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยถึงการพบ “นาก” 2 สายพันธุ์หายากในลำน้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เชิงนิเวศที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นความยินดีที่ได้พบ “นากเล็กเล็บสั้น” และ “นากใหญ่ขนเรียบ” ในพื้นที่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ความแตกต่างระหว่างนากทั้ง 2 ชนิด คือ “นากใหญ่ขนเรียบ” จะมีขนาดใหญ่กว่า และเหมาะกับการว่ายน้ำในน้ำลึก ส่วน “นากเล็กเล็บสั้น” มีขนาดเล็กและมักอาศัยในพื้นที่น้ำตื้น ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ นากใหญ่ขนเรียบมีความสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำใหญ่ ส่วนนากเล็กเล็บสั้นเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่น้ำตื้น
ทั้งนี้ “นากเล็กเล็บสั้น” (Mustela nivalis) มีสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์" (Vulnerable: VU) ขณะที่ “นากใหญ่ขนเรียบ” (Aonyx cinerea) มีสถานะ "ใกล้ถูกคุกคาม" (Near Threatened: NT) ตามการจัดอันดับขององค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาด้านการกระจายพันธุ์และสถานะการอนุรักษ์