โฆษกศาลแจง คดีทุจริต 26 โครงการ โทษจำคุกกว่า 130 ปี ทำไมรอลงอาญา คดีนี้จำเลยรับสารภาพ วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พาณิชย์จังหวัดอุบลฯ คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด อัยการยื่นอุทธรณ์ได้
วันนี้ (4 มี.ค.68) นายรัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาคดีอดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีกับพวก ฮั้วประมูลโครงการภาครัฐ 26 สัญญา ศาลพิพากษาให้จำคุกกว่า 130 ปี แต่รอการลงโทษ ทำให้จำเลยกับพวกไม่ต้องรับโทษจำคุก
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือวิทธิกร หรือ มังกร ใสงาม ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 2- 10 ซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ล้วนเป็นนิติบุคคลและบริวารผู้ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อยื่นประมูลงานจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชาสัมพันธ์ และงานอื่น ๆ ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในลักษณะสมยอมราคากันรวม 26 สัญญา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวไม่ได้มีวัสดุอุปกรณ์จัดสถานที่ ไม่มีอุปกรณ์จัดแสงสีเสียง ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการแสดงและไม่มีลูกจ้างหรือทีมงานที่จะใช้จัดงานโดยตรง
จำเลยทั้ง 10 ให้การรับสารภาพ แต่เนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11,12 เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป โจทก์จึงนำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ 1 วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี 3,448,250 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี คนละ 1,725,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,898,250 บาท
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 รับฟังคำรับสารภาพของจำเลยทั้ง 10 ประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพ แล้วพิพากษาว่าให้จำคุกกระทงละ 5 ปี 3 เดือน และปรับกระทงละ 102,000 บาท รวมจำคุก 130 ปี 78 เดือน และปรับ 2,652,000 โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 65 ปี 39 เดือน และปรับ 1,326,000 บาท โดยในกรณีกระทำความผิดหลายกระทง หากกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป ให้จำคุกไม่เกิน 50 ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-10 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงระวางโทษลดหลั่นกันไปตามจำนวนกรรมและวาระที่กระทำความผิด
ในการพิจารณาว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยทั้ง 10 หรือไม่ ศาลฯ พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี และคำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ การรู้สำนึกในการกระทำความผิดของจำเลย ซึ่งคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ความพยายามบรรเทาผลร้ายโดยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดี ประวัติของจำเลย และโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดีในอนาคต จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้คนละ 5 ปี วางโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติอย่างเคร่งครัดมีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยทุกคนไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ให้จำเลยทุกคนทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลาคนละ 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 แล้ว โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 24 มี.ค.68