จากประเด็นข่าวดังของนักร้องหมอลำสาว ลำไย ไหทองคำ และ แดนเซอร์ชายในวง ที่มีประเด็นดรามาจนทางค่ายต้องเซ็นสัญญาลับ NDA โดยใช้เงินกว่า 2 ล้านบาทกับอดีตแฟนของแดนเซอร์ชาย จนหลายคนให้ความสนใจที่ "สัญญา NDA" คืออะไร แล้วทำไมถึงต้องเซ็น ? วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัย
NDA มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Non-disclosure agreement หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับ” สัญญาตัวนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Confidentiality agreement หรือ “สัญญารักษาความลับของข้อมูล” สัญญานี้ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลทางธุรกิจไม่ให้รั่วไหลออกไปจากองค์กร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระหว่างที่ยังเป็นลูกจ้าง คู่ค้า หรือหุ้นส่วนกันอยู่ ต่างฝ่ายก็อาจล่วงรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายและอาจเอาข้อมูลออกไปเปิดเผยได้ ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจจึงทำสัญญากันเพื่อบังคับไม่ให้แต่ละฝ่ายเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของตนให้บุคคลภายนอกทราบ
ข้อจำกัดสิทธิในการนำข้อมูลไปใช้
ฝ่ายที่ได้รับข้อมูลมีสิทธิเอาข้อมูลที่ได้รับไปใช้ทำอะไรได้บ้าง หลัก ๆ คือต้องเอาไปใช้ภายในขอบวัตถุประสงค์ของสัญญาเท่านั้น หากเอาไปใช้นอกขอบวัตถุประสงค์ ก็จะเป็นการผิดสัญญาทันที
ข้อยกเว้นการใช้ข้อมูล
1. มีคำสั่งศาลบังคับให้เปิดเผยข้อมูล
2. มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่บังคับให้เปิดเผยข้อมูล
3. เป็นข้อมูลที่รับรู้กันทั่วไปแล้วในขณะที่เปิดเผย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “public domain”
4. เป็นข้อมูลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้นมาเอง
5. เป็นข้อมูลที่ได้รับมาจากบุคคลภายนอกสัญญาและบุคคลภายนอกสัญญาก็ไม่ห้ามให้เปิดเผยข้อมูล
6. คู่สัญญาฝ่ายเจ้าของข้อมูล “ยินยอม” ให้เปิดเผยได้
ขอบคุณข้อมูลจาก พุทธพจน์ นนตรี