สนามข่าว 7 สี - ประเพณี "บุญผะเหวด" หรือ "บุญเดือนสี่" ของท้องถิ่นภาคอีสาน เริ่มขึ้นแล้วในหลายจังหวัด เชื่อกันว่าหากประกอบพิธีครบ จบทุกขั้นตอน จะได้ไปอยู่ในดินแดนที่สุขสงบ
ประเพณี "บุญผะเหวด" ของชาวร้อยเอ็ด ปรับรูปแบบใหม่ เป็นการแสดงจินตลีลาประกอบเสียงเพลง แทนการเล่าขาน ภายใต้ชื่องาน "มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด"
ปีนี้ แสง สี เสียง บนเวที ใช้นักเรียนจากโรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล อำเภอสุวรรณภูมิ โดยตัดเอาตอน "กัณฑ์ชูชก-กันหา-ชาลี" ซึ่งเป็น 1 ใน 13 กัณฑ์เทศน์ของพระเวสสันดรชาดก มาแสดง
ภาคกลางวัน ได้จัดขบวนแห่ "กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน ปฐมฤกษ์" ต้นขบวนเริ่มจากศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด และไปสิ้นสุดที่เวที ตลอด 2 ข้างทาง มีประชาชนร่วมบุญถวายปัจจัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ยอดเงินปีนี้ รวมกว่า 1.4 ล้านบาท
ประเพณีบุญผะเหวด ที่บ้านหนองเดิ่น ตำบลกระทุ่มราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา โดดเด่นและสะดุดตาเช่นกัน กับขบวนช้าง 29 เชือก ที่นำมาเข้าร่วมในการแห่พระอุปคุต เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมสักการะบูชา และเชิญชวนให้ออกมาร่วมงานบุญที่วัดกันมาก ๆ รายได้ทั้งหมดจะนำไปสมทบทุนปฏิสังขรณ์วัดต่อไป
บุญผะเหวด หรือ บุญเดือนสี่ เป็นงานบุญเก่าแก่ เชื่อกันว่าหากได้ฟังเทศน์บุญผะเหวดครบ 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียวและจัดพิธีตั้งเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง อานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตร ดินแดนแห่งความสุข สงบ แต่ในทางกลับกัน หากตั้งเครื่องคายไม่ถูกต้อง ก็จะดลบันดาลให้เกิดอาเพศต่าง ๆ นานา และยังแฝงไว้ด้วยความเชื่อหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อเรื่องพระอุปคุต พระผู้รักษาพิธีให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีพญามารมารบกวน