เวลา 13.42 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นเป็นจุดดำเนินการที่ 3 ต่อจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี และภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย, ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย, และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สนองพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ทั้งยังขยายผลตามแนวคิด "Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" มุ่งเน้นให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงการสร้างสรรค์ผืนผ้า และหัตถศิลป์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์ และผู้สวมใส่
โดยมีผู้ประกอบการจากจังหวัดต่าง ๆ จัดแสดงผลงาน 20 บูธ อาทิ เครื่องเคลือบศิลาดล และงานเซรามิค จังหวัดเชียงใหม่, เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย, ผลิตภัณฑ์ชามตราไก่ดั้งเดิม และงานเซรามิค จังหวัดลำปาง, งานตุ๊กตาดินเผา จังหวัดลำพูน, ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคหมี่แทรกหมี่ทับยกขิด จังหวัดอุทัยธานี, ผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง และผลิตภัณฑ์ผ้าขิดลายดอกจันทน์ จังหวัดเพชรบูรณ์ และกระเป๋าผ้ากัญชง ตกแต่งงานปักมือลวดลาย "อักษร" จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้นำผ้าลายพระราชทาน รวมถึงพระดำริที่พระราชทาน ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับลายผ้าอัตลักษณ์ และลวดลายดั้งเดิมของแต่ละกลุ่ม สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ และผลงานของสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น มีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว ทั้งยังอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปาชีพ อาทิ ผ้าทอขนแกะ, งานปักผ้า, งานจักสาน และผ้าจก โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงงานสืบสานพระราชปณิธาน ทรงพัฒนางาน ด้วยการพระราชทานพระดำริด้านวัตถุดิบ สี และการออกแบบให้มีความทันสมัย สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบัน
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภาคเหนือ เฝ้าถวายการบ้าน ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ แผนกเครื่องปั้นดินเผา จากจังหวัดลำปาง ทำถาดไข่ ที่พัฒนาให้บางเบา และสีสันหวานขึ้น, Magnet รูปผลไม้ โปรดให้ปรับสีเสมือนจริง, ส่วนภาชนะใส่ผลไม้ ให้มีน้ำหนัก ออกแบบรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ ให้ทันสมัย
ผลิตภัณฑ์ชาวไทยภูเขา เช่น ผ้าทอกี่เอวลายจกกะเหรี่ยง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้สีธรรมชาติทั้งหมด โปรดให้เก็บงานให้เรียบร้อย และทำผืนเล็ก ๆ จะได้มีรายได้เพิ่ม, ผลิตภัณฑ์จากขนแกะ บ้านห้วยล้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำเส้นขนแกะที่มีความนุ่มน้อยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยผ้าพันคอ โปรดให้ทอ ให้มีความหนาขึ้น และมีสีขาวมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ โปรดให้ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ, นักวิชาการ และนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ช่างทอผ้า ช่างจักสาน ผู้ประกอบการ และนักศึกษา อาทิ การออกแบบให้ตรงต่อความต้องการของตลาด, การนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์, การวางลายผ้า ความสม่ำเสมอในการทอผ้า การย้อมสี และเนื้อผ้าต้องมีความเรียบเนียน นำไปทำเสื้อผ้าแล้วสวมใส่สบาย รวมทั้งการใช้สีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย มาปรับใช้ให้ทันต่อกระแสของโลกปัจจุบัน
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าชนเผ่า จำนวน 6 เผ่า ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้แก่ เผ่าเมี่ยน สาธิตการถักเชือก, การทอจกกะเหรี่ยงโปว์, การหวี การปั่น การทอผ้าขนแกะ จากชนเผ่าปกาเกอะญอ, การเขียนเทียนม้ง, ผ้าปักชนเผ่าม้ง และชนเผ่าอาข่า รวมทั้ง นิทรรศการผ้าไทยจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โดยน้อมนำพระดำริแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ของ "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ" โครงการหลวงแห่งแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร นำเสนอหัตถอุตสาหกรรมกัญชง โดยนำกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ นำใยกัญชงมาถักทอและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้สูงกว่าพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง 9,000-14,000 บาทต่อไร่
ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงชุด "ฮอมปอย" โดยนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มสตรีในจังหวัดเชียงใหม่ "ฮอมปอย" สื่อถึงการรวมตัวของผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ในเชียงใหม่ เช่น ลาหู่, อาข่า, ม้ง, ไทลื้อ, ไทเขิน และปกาเกอะญอ ที่มาสังสรรค์สนุกสนานและเฉลิมฉลองไปพร้อมกัน ในบรรยากาศของงานปอยที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ดนตรี และการแสดงที่มีชีวิตชีวา โดยแต่ละกลุ่มจะนำเสนอท่าเต้นที่สนุกสนานและเป็นเอกลักษณ์ของตน