กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยแรงงานถูกเบี้ยวค่าเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยแรงงานถูกเบี้ยวค่าเลิกจ้าง

View icon 187
วันที่ 14 มี.ค. 2568 | 08.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“พิพัฒน์”  ยืนยัน เร่งช่วยแรงงานถูกเบี้ยวค่าเลิกจ้าง ดันงบกลาง-ล็อกบัญชีนายจ้าง-แก้กฎหมายให้คุ้มครองลูกจ้างมากขึ้น

วันนี้ (14 มี.ค.68) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำแนวทางแก้ไขปัญหานายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน การขออนุมัติงบกลางช่วยเหลือลูกจ้าง และมาตรการป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สินของนายจ้าง

นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า กระทรวงแรงงาน มีมาตรการรองรับทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบได้รับความเป็นธรรมโดยจะเร่งให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการออกคำสั่ง จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อเยียวยาความเดือดร้อน ดำเนินคดีอาญา และเป็นทนายความฟ้องคดีแพ่ง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยเร็วที่สุดโดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด  จากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีความคืบหน้าแต่ละคดี ดังนี้

1. บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) คดีแพ่งศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) และศาลแรงงานภาค 6 (นครสวรรค์) มีคำพิพากษาแล้ว และกรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์นายจ้าง 3 รายการ เพื่อขายทอดตลาด และประกาศขายทอดตลาดแล้ว จำนวน 6 ครั้ง แต่ไม่มีผู้ซื้อ คดีอาญาอยู่ในชั้นศาล

2. บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด คดีแพ่ง นิติกร กสร. เป็นทนายความยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) โดยศาลมีคำพิพากษา และออกหมายบังคับคดีแล้ว คดีอาญาอยู่ในชั้นศาล ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 มีนาคม 2568

3. บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด คดีแพ่ง นิติกร กสร. เป็นทนายความยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) โดยนายจ้างลูกจ้างเจรจาในชั้นศาลตกลงกันได้ ผ่อนชำระ 24 งวด ๆ ละ 450,000 บาท โดยจ่ายงวดแรก 5 กุมภาพันธ์ 2568คดีอาญาอยู่ในชั้นศาล

ส่วนความคืบหน้าการขออนุมัติงบกลางช่วยเหลือลูกจ้างนั้น นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า การติดตามเรื่องการขออนุมัติงบกลางอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างได้รับเงินชดเชยโดยเร็วที่สุด โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอเรื่องการขอใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งความคืบหน้านั้น กระทรวงแรงงานดำเนินการเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รอการพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมครม. โดยตนจะไปติดตามเรื่องนี้อีกอย่างใกล้ชิด เพราะเสนอไปล่าสุด ครบ 1 เดือนแล้ว ต้องเร่งให้เข้าสู่การพิจารณาโดยเร็ว

สำหรับ มาตรการป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สินของนายจ้าง และแนวทางอายัดทรัพย์ กระทรวงแรงงานมีมาตรการป้องกันนายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยโดยการโยกย้ายทรัพย์สิน ซึ่งมีแนวทางดำเนินการทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดี เพื่อให้อำนาจในการอายัดทรัพย์สินนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเร่งให้พนักงานตรวจแรงงานส่งคำร้องไปยังศาลแรงงานเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามโยกย้ายทรัพย์สิน โดยประสานกับธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อตรวจสอบธุรกรรมที่อาจเป็นการโยกย้ายทรัพย์สินโดยเจตนา

“การแก้ปัญหาแรงงาน ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและรัดกุม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม และป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในอนาคต กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เรากำลังดำเนินการทุกช่องทางทั้งกฎหมายและงบประมาณเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลพี่น้องแรงงานอย่างเต็มที่” นายพิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง