เวลา 12.16 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง กลไกการเกิดโรคมะเร็ง (Oncogenesis) พระราชทานแก่คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ชั้นปีที่ 1 และ 2 ของสาขาวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ "อนามัยสิ่งแวดล้อม" สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ รวม 50 คน
วันนี้ ทรงบรรยายเรื่อง กลไกการเกิดโรคมะเร็ง ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "การควบคุมการเพิ่มจำนวนของเซลล์ การเกิดเซลล์ตาย และเมแทบอลิซึมของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งกลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุล และระดับเซลล์ : กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ซึ่งปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและการแสดงออกของยีนต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละคน ที่แยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำ ช่วยให้แพทย์เลือกแผนการรักษาและยาที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของโรค ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ทรงยกตัวอย่างความเป็นมาของการพัฒนายา กลีเวค (Gleevec) ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ความสำเร็จของการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะของมะเร็ง มาพัฒนาหาแนวทางการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งต่างกันในเซลล์มะเร็ง ความเข้าใจในเรื่องชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนกลไกในแต่ละขั้นตอน หรือกระบวนการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนเซลล์ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ไปจนถึงการพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น