การรับประทานอาหารในปริมาณมากหลัง 17.00 น. อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในรูปแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ตามผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Nutrition & Diabetes.โดยในเพจของ หมอหมู วีระศักดิ์ ได้อ้างอิงผลการทำวิจัย เผยว่า
นักวิจัยทำการทดสอบกับผู้ใหญ่ 26 คนที่มีอายุระหว่าง 50 - 75 ปี ซึ่งมีน้ำหนักเกินหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หรือโรคเบาหวานประเภท 2 ผู้เข้าร่วมถูกแบ่งออกเป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน 2 แบบเพื่อเปรียบเทียบ กลุ่มแรกรับประทานอาหารก่อน 17.00 น. กลุ่มที่สองรับประทานอาหารดึกหลัง 17.00 น. โดยทั้งสองกลุ่มบริโภคแคลอรีรวมต่อวันเกือบเท่ากัน
กลุ่มที่รับประทานอาหารดึกหลัง 17.00 น. มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งลบล้างความเชื่อที่ว่าการทานอาหารในปริมาณแคลอรี่ที่เท่ากัน จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่แตกต่างกัน
ในช่วงเย็น ร่างกายของเราจะประมวลผลอาหารต่างไปจากมื้อกลางวัน เนื่องมาจากจังหวะชีวภาพตามธรรมชาติที่ส่งผลต่อความไวต่ออินซูลิน การเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญนี้ทำให้ระบบของเรามีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเหมาะสมหลัง 5 โมงเย็น
5 อันตรายจากการทานอาหารหลัง 5 โมงเย็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
1. ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น: การรับประทานอาหารหลัง 17.00 น. อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
2. ความไวต่ออินซูลินลดลง: การรับประทานอาหารในช่วงเย็นอาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแย่ลง
3. คุณภาพการนอนหลับลดลง: การรับประทานอาหารใกล้เวลานอนอาจทำให้การนอนหลับไม่สนิทหรือมีปัญหาในการนอนหลับ
4. การสะสมไขมันเพิ่มขึ้น: การรับประทานอาหารในช่วงเย็นอาจทำให้ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางกายลดลงในช่วงเวลานี้
5. การอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น: การรับประทานอาหารหลัง 17.00 น. อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ข้อแนะนำ
1. ควรปรับเวลารับประทานอาหารหลักให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะมื้อเย็น ควรรับประทานก่อน 17.00 น.
2. หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารหลัง 17.00 น. ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่ายและมีปริมาณไม่มาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรืออาหารที่มีไขมันสูง
3. นอนหลับให้เร็วขึ้น (ก่อน 22.00 น.) เพื่อลดความอยากอาหารมื้อดึกจากฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ที่เพิ่มขึ้น
หมอหมูยังทิ้งท้ายว่า ข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความ และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก: Díaz-Rizzolo, D.A., Santos Baez, L.S., Popp, C.J. et al. Late eating is associated with poor glucose tolerance, independent of body weight, fat mass, energy intake and diet composition in prediabetes or early onset type 2 diabetes. Nutr. Diabetes 14, 90 (2024).
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ หมอหมู วีระศักดิ์