สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ปมสงสัยแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมา แต่รับรู้แรงสั่นไหวหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่อยู่ไกลกว่าพันกิโลเมตร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว ที่สำคัญรุนแรงถึงขั้นอาคารที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ยังไม่รวมตามอาคารสูงต่าง ๆ ที่ก็พบทั้งรอยร้าว แผ่นปูนร่อน จะเข้าอยู่ต่อได้หรือไม่
ไขปมธรณีพิบัติ สั่นไหวแรงถึง กทม.
แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นบนบก แน่นอนว่าจะไม่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ แต่ด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่มีขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. วานนี้ (28 มี.ค.)
โดยมีศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา สาเหตุจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกายขยับ จนรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง กรุงเทพฯ รวมถึงภาคใต้
แต่ปมสงสัยเกี่ยวกับการรับรู้แรงสั่นไหว โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่รับรู้ได้เป็นวงกว้าง หนำซ้ำรุนแรงขั้นอาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สูง 30 ชั้น ที่กำลังก่อสร้าง ใกล้ MRT กำแพงเพชร พังถล่มลงมานั้น จะมีปัจจัยอะไรบ้าง
ต้องย้ำว่าเป็นข้อมูลของสภาพโครงสร้างของดิน ที่อาจเป็นหนึ่งปัจจัย แต่จริง ๆ แล้วการที่ตึกสูงถล่มลง ยังต้องรอทางวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญ ประเมินหาสาเหตุชัด ๆ อีกครั้ง
แผ่นดินไหวเขย่าแรง อาคารใน กทม.ควรอาศัยอยู่ไหม ?
มาดูอีกปมสงสัย โดยเฉพาะที่หลายคนกังวล เพราะปกติอย่างที่เรารู้กัน เวลาเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก็มักจะมีอาฟเตอร์ช็อกเป็นระยะ ๆ ก็อาจกังวล ถ้าจะเข้าอยู่อาศัยในอาคารจะปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ
อย่างที่ นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี บอกว่า อาคารสูงกว่า 10 ชั้น ที่อาจมีร่องรอยเสียหาย อาจน่ากังวล เพราะในกรุงเทพฯ วานนี้ก็มีภาพแชร์ความเสียหายออกมากันมาก บางแห่งลูกบ้านเองก็ไม่กล้าเข้าพักอาศัย ต้องไปอยู่กับบ้านญาติ ตามบ้านพัก 1 ชั้น 2 ชั้นแทน
ซึ่งจริง ๆ แล้ว รัฐบาล กทม. และ วสท. ก็ระดมวิศวกรอาสานับพันคน ไว้ช่วยเหลือชาวกรุงที่กังวลเรื่องที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือมีรอยร้าวที่เสาและคาน สามารถส่งภาพถ่ายผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อให้วิศวกรฯ ตรวจสอบประเมินความปลอดภัย แต่อุปสรรคที่พบคือ ประชาชนส่งภาพถ่ายมาเพียง 1 รูป จึงทำให้ความช่วยเหลือล่าช้า
ทั้งนี้ การแจ้งรอยร้าวอาคาร Traffy Fondue รูปที่ส่งควรเป็นรูปที่มีมุมกว้าง มุมแคบ และคำอธิบายเบื้องต้น เช่น เสาที่แตกหรือร้าว เป็นเสาของสิ่งปลูกสร้างอะไร มีความสูงประมาณเท่าไหร่ เช่น เป็นเสาอาคารสูง 80 ชั้น, เสาบ้าน 2 ชั้น หรือเสาโรงจอดรถ