วันนี้ (30 มี.ค.68) นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก เข้าไปตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ของกรมชลประทาน ตามมาตรการด้านความปลอดภัยเขื่อน รวมถึงอาคารชลประทานต่างๆ และอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งหลังจากการตรวจสอบยังไม่พบความผิดปกติ โครงสร้างของเขื่อนและอาคารต่างๆ ยังคงมีความมั่นคง แข็งแรง และสามารถใช้งานได้ตามปกติ
จากการตรวจวัดค่าอัตราเร่ง (ค่าวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว)ที่วัดได้ที่เขื่อนของกรมชลประทาน พบว่ามีค่าที่ตรวจวัดได้อยู่ระหว่าง 0.00505 -0.01647g ซึ่งค่าที่ตรวจวัดได้ดังกล่าวไม่เกินค่าตามมาตราฐานการออกแบบของกรมชลประทานและตามหลักการขององค์กรเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (ICOLD) กำหนดไ้ว้เพื่อรองรับอัตราเร่ง (ค่าวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว) คือไม่เกิน 0.2 g ดั้งนั้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามความปลอดภัยของเขื่อนอย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และการลงพื้นที่สำรวจโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตามนโยบายของรัฐบาล