กลาโหมส่งทหารช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แผ่นดินไหวเมียนมา แบ่ง 8 ชุด ร่วมค้นหากู้ภัย แพทย์ฉุกเฉิน พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาในยามยากลำบาก
วันนี้ (30 มี.ค.68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทยเดินทางไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชน จากเหตุแผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา โดยรัฐบาลไทย ได้มอบหมายให้ กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง“ชุดช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาในพื้นที่เมืองเนปิดอว์” ภายใต้การควบคุมและกำกับของสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร (สบก.ยก.ทหาร) ซึ่งได้วางแผนอย่างรัดกุมและครอบคลุมในทุกมิติของการช่วยเหลือ ตามหลักปฏิบัติด้าน Humanitarian Assistance and Disaster Relief (HADR)
สำหรับภารกิจชุดดูแลและกิจ ประกอบด้วย กำลังพลทั้งหมด 55 นาย แบ่งออกเป็น 8 ชุด ได้แก่ชุดควบคุม (5 นาย), ชุดงานด้านประชาสัมพันธ์ (4 นาย), ชุดค้นหาและกู้ภัยขั้นต้น (USAR) จากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (12 นาย), ชุดแพทย์ฉุกเฉิน (MERT) จากสำนักนายแพทย์ทหาร (18 นาย), ชุดประเมินความเสียหาย (4 นาย), ชุดสื่อสาร (4 นาย), ชุดขนส่งทางอากาศ (4 นาย), ชุดประสานงาน (4 นาย)
โดยมีภารกิจหลัก คือ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนผู้ประสบภัยในประเทศเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจด้านการค้นหาและกู้ภัยการแพทย์ฉุกเฉิน การตั้งโรงพยาบาลสนามระดับเบื้องต้น การประเมินความเสียหาย และการสนับสนุนด้านการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร
การเดินทางไปภารกิจครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศทั้งหมด 3 เที่ยวบิน ได้แก่
เที่ยวบินที่ 1 (30 มีนาคม 2568) จัดส่งกำลังพลจากกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง-เนปิดอว์-กรุงเทพฯ
เที่ยวบินที่ 2 (2 เมษายน 2568) เดินทางเข้าสลับกำลัง
เที่ยวบินที่ 3 (5 เมษายน 2568) เดินทางกลับถิ่นฐาน
ในส่วนของการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เมื่อเดินทางถึงที่หมาย ชุด USAR จะปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ชุด MERT ให้การแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และปรับเป็น Mobile Clinic ตามคำสั่ง ชุด RDANA จะประเมินความเสียหายเพื่อวางแผนการช่วยเหลือต่อระยะต่อไป ตลอดจนการประชุมร่วมกับศูนย์บัญชาการทางทหารผ่านระบบ VTC รายงานผลการปฏิบัติประจำวัน และรายงานพิเศษตามคำสั่ง รวมทั้งให้การช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่ และดำเนินการส่งกลับโดยสมัครใจผ่านเที่ยวบินของกองทัพอากาศ และการดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุภารกิจ
การดำเนินภารกิจในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความจริงใจของประเทศไทยในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาในยามยากลำบาก พร้อมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของกองทัพไทยในบทบาทด้านความมั่นคงเชิงมนุษยธรรม สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติภารกิจภายในประเทศไทยที่ถือเป็นความเร่งด่วนสูงสุดนั้นกองทัพไทย โดยทุกเหล่าทัพ ได้จัดกำลังพลและอุปกรณ์ ประกอบกำลังเป็นชุดค้นหาผู้ประสบภัย ชุดแพทย์ฉุกเฉินและชุดจิตอาสา ชุดสนับสนุน ฯลฯ เพื่อเข้าอุทยานเพื่อค้นหาผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดทีมในพื้นที่ประสบภัยทั่วประเทศด้วยการแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มให้แก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมถึงกำลังพลออกปฏิบัติหน้าที่จำนวน 1,294 นาย รถบรรทุก 6 คัน พร้อมยานพาหนะ 84 คัน และอุปกรณ์ที่สำคัญ จำนวน 12 รายการ อาทิ รถเครน รถบกหนีตีนตะขาบ รถยกสูง เครื่องวางคาน เครื่องดักตะกอนไฟฟ้า พัดลมระบายอากาศ เป็นต้น