“ปธ.สภาอุตฯ” ยืนยัน แผ่นดินไหวไม่กระทบภาคการผลิต เดินเครื่องส่งออกได้ตามปกติ คาดคู่ค้า “เมียนมา” ต้องการของกินของใช้ วัสดุก่อสร้าง จากไทยเพิ่มขึ้น
สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ รวมถึง กทม. จนเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจและระบบทางการเงินของไทย
ดังนั้น 6 องค์กรประกอบด้วย สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกันแถลงข่าวในวันนี้ (31มี.ค.68) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ในจำนวนนี้ คือ ผลกระทบต่อเรื่องภาคผลิตและภาคอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุมีความกังวลเรื่องการส่งก๊าซ และ เครื่องจักรการผลิต ไม่มีปัญหา แม้ช่วงต้นหยุดชะงัก แต่กลับมาทำงานกันได้เร็ว ส่วนการส่งวัตถุดิบ ยอมรับว่า บางเส้นทางที่ต้องซ่อมแซม ก็เพียงแค่เดินทางอ้อมเท่านั้น การผลิตจึงไม่มีปัญหาอะไร
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ต่างชาติมีความกังวลสอบถามเรื่องนี้ จึงยืนยันกลับไปว่า สามารถผลิตเพื่อส่งออกทาง ทั้งทางน้ำ ทางราง และ ทางอากาศ ได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 29 ที่ผ่านมา
ส่วนผลกระทบจากคู่ค้าเมียนมาที่ได้รับผลความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว นายเกรียงไกร ระบุว่า ผลกระทบโดยตรงอาจไม่มี เพราะภาคการผลิตของคนไทยที่ไปลงทุนมีไม่มาก และ ส่วนใหญ่โรงงานจะอยู่แถบอื่น ที่ไม่ใช่เมืองมัณฑะเลย์ แต่การส่งออกเพื่อค้าขายชายแดนยังเป็นไปตามปกติ ในทางกลับกันอาจมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และ อุปกรณ์ก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรง