ห้องข่าวภาคเที่ยง - หลังตึกถล่ม หลายคนเห็นคอมเมนต์นี้ คงคิดเหมือน ๆ กัน ว่า "ว่าแล้วไง" ประเด็นเหล็ก ตอนนี้ต้องพิสูจน์กันว่า สุดท้ายแล้วต้นตอตึกถล่มมาจากเหล็กด้อยคุณภาพ หรือเปล่า
ฮือฮากันเลยทีเดียว หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก "วันวาน ยังหวานอยู่" วิศวกรอาสา โดยนายวัชระ บัวเพชร โพสต์ข้อความแสดงความคิด ถึงการเลือกใช้เหล็กในการสร้างตึก สตง. ซึ่งผู้ก่อสร้างเลือกใช้เหล็ก DB.32 SD.50 ซึ่งเป็นชนิดเหล็กที่มีปัญหาเรื่องค่า Yield ต่ำ ค่า Yield คือ ค่าบอกเราว่า เราสามารถใช้งานวัสดุที่มีการยืดหยุ่น ได้มากน้อยเพียงใด โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้วิศวกร กำหนดขีดจำกัดความปลอดภัยในโครงสร้างได้
ลักษณะของเหล็กคือมี 2 ชั้น แข็งนอก อ่อนใน และรอยขาดเป็นรูปกรวย หากเหล็กถูกบิดไปมาจะปริแตกและร้าว ทำให้พื้นที่หน้าตัดเหล็ก (AS) ลดลง และค่า Strength หรือ ค่าความแข็งแกร่งหายไป
ต่อมา ผู้โพสต์ได้ออกมาระบุข้อความเพิ่มว่า เหล็กเส้น อาคาร สตง. เป็นชนิดมีสัญลักษณ์ ตัว T ซึ่งหมายถึง เหล็กเส้นข้ออ้อย ที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ปล่อยให้เย็นตัวตามปกติ มีการสเปร์ยน้ำ ผ่านกระบวนการทางความร้อนเพิ่มเติม เพื่อให้เหล็กแข็งตัวเร็ว แต่เนื้อในพรุน จึงทำให้โครงสร้างของเหล็ก ไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ความแข็งแรงไม่เท่ากันตลอดหน้าตัด
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้โรงงานผลิตเหล็กเส้นหลุดมาตรฐานออกมา แต่หน้างานทางวิศวกรต้องทดสอบเหล็กทุกเส้นก่อนขึ้นโครง
ปกติบ้านเราจะนำเข้าเหล็กแท่งจากต่างประเทศ แล้วนำมาหลอมเอง ซึ่งการส่งตรวจมาตรฐาน จะเป็นการส่งตรง เป็นชุด ๆ เพื่อรับ มาตรฐาน มอก. ดังนั้นมีโอกาสอยู่บ้าง ที่แต่ละเตาหลอม จะมีเหล็กเส้นที่หลุดมาตรฐานออกไป