สนามข่าว 7 สี - สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หรือ "ITSI" แถลงผลตรวจสอบเหล็กตัวอย่าง ซึ่งเก็บจากซากอาคาร สตง. ถล่ม โดยพบว่าเหล็กที่ใช้มีบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับขั้นตอนการตรวจเหล็กล็อตนี้มี 3 ส่วน คือ
1.การตรวจสอบค่าทางเคมีของเหล็ก โดยตัดจากเหล็กตัวอย่าง นำไปทำความสะอาด และใช้เครื่องตรวจวัดค่าทางเคมีของเหล็ก
2.เจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดค่าทางกายภาพ คือ ขนาดของบั้งของเหล็ก และตัวอักษรตีนูนบนเหล็ก
3. ทดสอบค่าทางกล ทั้งค่าทนทานของเหล็ก ใช้วิธีการดึงด้วยเครื่องทดสอบ และการดัดงอ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะบอกได้ว่าเหล็กเหล่านี้ได้มาตรฐานหรือไม่
ผลการตรวจสอบพบว่า เหล็กที่นำมาตรวจสอบ 28 ท่อน 3 ประเภท 7 ไซซ์ ได้มาตรฐาน 15 ท่อน 5 ไซซ์ ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ไซซ์ คือ ไซซ์ 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ซึ่งทั้ง 2 ไซซ์ มาจากบริษัทเดียวกัน เป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่งที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
ในการแถลงข่าวไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อของบริษัทที่ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่สามารถเก็บตัวอย่างได้จากเพียงบางจุดของอาคาร จึงเตรียมเข้าพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บเหล็กจากจุดวิกฤต ที่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุการถล่มโดยตรงเพื่อทำการทดสอบ และวิเคราะห์ผลเพิ่มเติมอย่างละเอียด
ในเวลาต่อมา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ Facebook ให้ข้อมูลว่า เหล็กข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐาน 2 ไซซ์ คือ 20 มม. กับ 32 มม. เป็นของยี่ห้อเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ในการแถลงข่าวจะไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทที่ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานทั้ง 13 ท่อน 2 ไซซ์ แต่มีรายงานว่าเหล็กที่นำมาตรวจสอบมาจาก 3 บริษัท และมีบริษัทเดียวที่ถูกสั่งปิดเมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งสื่อหลายสำนักก็รายงานตรงกัน
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เหล็กจากบริษัทนี้ได้มาตีตลาดในไทย จนเป็นบริษัทเหล็กที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศแทนที่ของบริษัทคนไทย เพราะมีการแย่งส่วนแบ่งการตลาด และแข่งขันกันด้วยราคาที่ถูก ทำให้บริษัทไทยหลายแห่งต้องปิดตัวลง
ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กที่ จังหวัดระยอง ได้เกิดอุบัติเหตุปั้นจั่นหอสูงกว่า 20 เมตร พังถล่มลงมาทับลูกจ้างเสียชีวิต 7 ศพ
และในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ได้เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้จากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ที่โรงงานใน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 คน โดยสาเหตุพบว่าเคลื่อนย้ายถังก๊าซไม่แจ้งขออนุญาตจากพลังงานจังหวัดระยอง จึงถูกปรับและสั่งให้หยุดกิจการ 30 วัน ก่อนพิจารณาให้ประกอบกิจการอีกครั้ง
และล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ชุดตรวจการ "สุดซอย" กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าไปตรวจสอบเหตุดังกล่าว และอายัดเหล็กไปตรวจสอบ พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และตกเกณฑ์สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก
โดยในครั้งนั้นผลการทดสอบ "เหล็กข้ออ้อย" ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2 รายการ คือ 1.ส่วนสูงของบั้งที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลงเมื่อนำไปใช้งาน และ 2.รายการธาตุโบรอน มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด
โดยบทลงโทษตอนนั้น คือ ได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการให้ถึงที่สุด และสั่งให้เรียกคืนเหล็กที่จำหน่ายกลับมาทั้งหมด ส่วนกรรมการบริษัท 3 คน คือ ชาวจีน 2 คน และชาวไทย 1 คน ถูกดำเนินคดี โทษทั้งจำคุกและปรับ