เช้านี้ที่หมอชิต - อุปทานหมู่หรือไม่! เมื่อคนกรุงวานนี้ เผ่นป่าราบลงจากอาคารหนีเอาชีวิตรอดกันอีกครั้งหลังเข้าใจว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกจนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง นายกฯ ชี้แจงด่วน สถานการณ์ปกติไม่มีอาฟเตอร์ช็อก และที่ดูจะเป็นไฮไลต์กลับมาอีกครั้งก็เรื่อง SMS แจ้งข้อมูลข่าวสารที่ นายกฯ ก็จี้หนักให้ลดขั้นตอนได้ไหม แต่ที่แน่ ๆ รอบที่แล้วได้รับ SMS กันหรือยังคราวนี้ นายกฯ จี้แล้ว มีอะไรเกิดขึ้นเดี๋ยวไล่เรียงทีละประเด็น ก่อนอื่นย้อนดูความโกลาหล นาทีแตกตื่นทั่วกรุงกันก่อน
เผ่นอีกรอบ! ผวาอาฟเตอร์ช็อก
เป็นนาทีที่คนกรุงในเขตจตุจักร หรือ บริเวณถนนริม ถนนพหลโยธิน ที่ผู้คนพากันลงมาอยู่ริมถนนด้วยความแตกตื่นอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่คนงานก่อสร้าง ที่มุ่งพากันเดินให้พ้นไซต์งานก่อสร้าง คล้ายจะไปยังจุดนัดพบที่ห่างออกมา ซึ่งคลิปภาพดังกล่าว เกิดขึ้นราว ๆ 10.00 น. วานนี้ (31 มี.ค.) ระหว่างที่ผู้สื่อข่าว 7HD มาทำงานและถ่ายคลิปไว้ได้
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ก็มีข่าวเรื่องการส่งสัญญาณเตือนให้ระวังอันตรายจาก อาฟเตอร์ช็อก จนเกิดภาพการหนีตาย วิ่งลงจากอาคารสูงกัน หรือ บางจุดก็มีประกาศอพยพคนออกจากตึก อาทิ ศูนย์ราชการ อาคาร A และ B กองบัญชาการกองทัพไทย ประกันสังคม และ สตช.
แต่ที่ดูน่าห่วง ก็จุดสถานพยาบาล เพราะมีคนป่วย เคลื่อนย้ายลำบาก อาทิ โรงพยาบาลตากสิน ก็สั่งอพยพคนออกจากอาคาร ต่อมา ผอ.โรงพยาบาลฯ บอกว่า ต้นเหตุเพราะมีเจ้าหน้าที่ไปพบหลอดไฟแกว่ง บนเพดานจึงเกิดการสื่อสารผิดพลาด เมื่อโกลาหนเช่นนี้ แม้ระยะสั้น ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมอุตุฯ, ปภ. , กทม. เร่งชี้แจง ใจความหลัก ๆ ยืนยันว่าอาฟเตอร์ช็อก ที่เมียนมา ไม่ส่งผลถึงกรุงเทพฯ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขอประชาชนตั้งสติ
ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตเรื่องน้ำหนักคน ที่เข้าไปเพิ่มในอาคาร ทำให้ตึกที่เพิ่งผ่านแผ่นดินไหว และปิดช่วงวันหยุดเพิ่งเกิดการสั่นไหว ซึ่งปมนี้ทั้ง อาจารย์ชัชชาติ และอาจารย์เป็นหนึ่ง ยืนยันตรงกัน อาคารที่ผ่านการเหตุแผ่นดินไหวมาได้แล้วจะไม่มีปัญหานี้ จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกตั้งสติรับมือเมื่อเกิดเหตุ
ภาวะแพนิกเกิน 3 วัน ควรพบแพทย์
ทีนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตที่ประชาชน ยังผวาจนเกิดภาวะแพนิก คิดว่าแผ่นดินไหว ปมนี้โฆษกกรมสุขภาพจิต ย้ำภาวะนี้ เกิดได้กับทุกคน แต่ถ้ามีอาการเกิน 3 วัน ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ ควรพบหมอทันที พร้อมแนะหาข้อมูลเอาตัวรอดในเรื่องที่กังวลเตรียมพร้อมไว้ จะทำให้สบายใจมากขึ้น
นายกฯ ไล่บี้ปัญหา SMS เตือนภัยล่าช้า
อีกวงถก ที่สอดรับกับภาวะตื่นตะหนกของประชาชนพอดี เมื่อ นายกฯ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน หารือการใช้ SMS คู่กับใช้สื่ออื่น ๆ แจ้งข้อมูลข่าวสาร ระหว่างประชุมก็ไล่ข้อมูล กันเข้มเพราะวันเกิดเหตุข้อความไปถึงประชาชนล่าช้า
นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย
ก็เป็นจังหวะที่นายกฯ พยายามบอกหน่วยงานว่า เรื่อง หน่วยริกเตอร์ เอาไว้ก่อนได้ไหม แม้รูปแบบการเตือนต้องมีข้อมูลครบก่อน แต่ภาวะนี้คล้าย ๆ รู้เหตุแจ้งก่อน เดี๋ยวรายละเอียดอื่น ๆ ค่อยตามมา ซึ่งจริง ๆ ในวงประชุมก็มีอีกเยอะที่ถกเรื่องวิธีแจ้งเตือน ก่อนจะเคาะลดขั้นตอนจากเดิม 3 หน่วยงาน เหลือ 2 หน่วยงาน วิเคราะห์ข้อมูลแล้วรีบแจ้งประชาชนให้รู้สถานการณ์ได้ทันที