หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ชาวบ้านย่านห้วยขวางร้องทุกข์ เสาบ้านเอียง หวั่นถล่ม ส่งเรื่องตรวจสอบผ่านแอปฯ แนะนำแบบนี้ไม่อันตราย เขตห้วยขวางทราบเรื่อง ลงพื้นที่ตรวจสอบ
(1 เม.ย.68) จากกรณี ผู้ใช้งาน x บัญชีที่ชื่อว่า “Red Skull” โพสต์เรื่องราวร้องทุกข์ของชาวบ้านย่านห้วยขวาง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว หลังเจ้าของบ้านส่งเรื่องแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ในแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเสาในบ้านมีสภาพเอนเอียง ใกล้ทรุดตัว แต่ทว่าเจ้าหน้าที่กลับประเมินให้เสร็จภายใน 2 นาที พร้อมให้คำแนะนำว่าสภาพแบบนี้ไม่อันตราย สามารถพักอาศัยต่อได้ ทำให้เจ้าของบ้านหวั่นจะเกิดอันตรายหากไม่ได้รับการแก้ไข
ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในซอยลาดพร้าว 42 แยก 10 เขตห้วยขวาง พบบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนแออัด โดยบ้านของนายยศพัฒน์ อายุ 27 ปี ผู้ร้องเรียน ปลูกด้วยสังกะสีติดริมคลองบางซื่อ มีเสาไม้ค้ำยันกลางบ้านอยู่ในสภาพเอนเอียง ขณะที่ด้านล่างเป็นดินโคลน
นายยศพัฒน์ ยอมรับว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมา 4 วัน ตนและแม่ต้องอยู่อย่างหวดระแวง นอนหลับไม่สนิท เพราะกลัวว่าเสากลางบ้าน จะทนรับน้ำหนักไม่ไหวจนถล่มไปทับบ้านหลังข้าง ๆ โดยวันเกิดเหตุ ตนคิดว่ามีเรือวิ่งมาชนบ้าน จึงออกไปดูที่หน้าต่างก็ไม่พบก่อนจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เสากลางบ้านเกิดโยกเยกไปมา และเริ่มเอนไปกินพื้นที่บ้างข้าง ๆ
หลังเกิดเหตุวันที่ 31 มีนาคม ช่วงประมาณ 5 โมงเย็น ตนส่งเรื่องแจ้งไปยัง กทม. ในแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ แต่ทว่าผ่านไปเพียง 2 นาที เจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมา พร้อมประเมินสภาพบ้านเบื้องต้น ว่ายังสามารถเข้าพักได้ตามปกติ ซึ่งตนมองว่าอาจเป็น AI ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ตอบกลับมา และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็ไม่รู้เช่นกันว่าบ้านจะถล่มมาเมื่อไหร่ จึงอยากฝากสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ
เบื้องต้นทีมข่าว 7HD ประสานไปยังสำนักงานเขตห้วยขวาง ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบว่าโครงสร้างหลักของบ้านประมาณ 90% ถูกติดตั้งอยู่ในดินโคลนข้างคลองบางซื่อ ซึ่งพอได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เสาที่เป็นจุดค้ำยันของบ้านเกิดเอนเอียงได้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาฯ จะเข้ามาประเมินสภาพอีกครั้งเพื่อช่วยซ่อมแซมให้กับผู้พักอาศัย
ส่วนปัญหาเรื่องการตอบกลับในแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์นั้น ทราบว่าวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ จึงแนะนำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเดินทางมาแจ้งเรื่องหรือโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต