พยาบาลสาว ร้องทุกข์ ถูกกลั่นแกล้งจากต้นสังกัด หลังเปิดโปงขบวนการ "โกงเงินหลวง" ทั้งทุจริตค่าอาหาร อสม.ใช้รถราชการไปทำธุระส่วนตัว ไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน อึ้ง เจอตอกกลับ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้
วันนี้(1 เม.ย.68) น.ส.บี อายุ 36 ปี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี หอบหลักฐานเอกสารและคลิปเสียง เดินทางกว่า 600 กม. เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับนายณธัชพงศ์ บุญเกิด หรือ “ทนายกบ” ที่ สำนักงานกฎหมาย ทนายกบบุญเกิด อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หลังจากถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักจากหน่วยงานต้นสังกัด เพียงเพราะเปิดโปงขบวนการโกงเงินหลวงกว่า 500,000 บาท ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
น.ส.บี เปิดเผยว่า ตนเข้าทำงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนจะได้รับการอบรมโครงการ “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส” (Integrity and Transparency Assessment - ITA) ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตภายในหน่วยงาน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส โดยเน้นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต หลังจากอบรมเสร็จ ตนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และได้เริ่มตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงาน
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2567 ตนพบพฤติกรรมทุจริตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การทุจริตงบค่าอาหารของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การใช้รถราชการไปทำธุระส่วนตัว และข้าราชการบางรายไม่เข้าทำงาน เมื่อพยายามร้องเรียน กลับถูกกลั่นแกล้งและข่มขู่ โดยเฉพาะเมื่อเปิดโปงการทุจริตของลูกจ้างและผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งมีการด่าทอและกล่าววาจาในเชิงดูถูก ตนสามารถบันทึกเสียงได้ โดยผู้ช่วยคนดังกล่าวระบุว่า “คนเป็นเจ้าคนนายคน บางทีมันก็ต้องมีนิด ๆ หน่อย ๆ ถ้าโกงเหมือนอดีตนายกอภิสิทธิ์ ก็ทะเลาะกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่นี่มันเล็กน้อย บางทีมันไม่ใช่เรื่องของเรา เราจะทำให้เป็นปัญหาทำไม ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ น้องก็น่าจะรู้ดี”
กรณีการทุจริตงบค่าอาหารของ อสม. ตนตรวจสอบพบว่า สำนักงานได้รับงบประมาณ คนละ 110 บาทต่อการอบรม 1 ครั้ง ซึ่งต้องจัดอาหาร 3 มื้อ ได้แก่ อาหารว่าง 2 มื้อ และอาหารหลัก 1 มื้อ แต่ปรากฏว่า อสม.ได้รับเพียงอาหารว่าง 1 มื้อเท่านั้น โดยเป็นขนมปังราคาประมาณ 30 บาท ส่วนเงินที่เหลือสำนักงานอ้างว่า “ต้องเก็บไว้ใช้ในหน่วยงาน” แต่ไม่มีการชี้แจงว่าเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่ออะไร หรือเข้ากระเป๋าใคร ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการจัดอบรมนอกสถานที่ จะมีการเบิกงบประมาณสูงขึ้น แต่ยังคงมีพฤติกรรมทุจริตเช่นเดิม
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอใช้รถราชการไปทำธุระส่วนตัว โดยให้เหตุผลว่าบ้านตนเองไม่มีรถยนต์ และยังพบพฤติกรรม ตั้งระยะทางเกินจริงเพื่อเบิกค่าน้ำมันจากงบประมาณ เมื่อตนและเพื่อนร่วมงานพยายามแก้ไขด้วยการทำสมุดบันทึกการใช้น้ำมัน กลับถูกต่อว่าและอ้างว่า “เป็นการไม่ให้เกียรติกัน” รวมถึงยังมีพฤติกรรมช่วยเหลือข้าราชการที่ไม่มาทำงาน ให้สามารถรับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้ตามปกติ ทั้งที่ควรมีการดำเนินการทางวินัย
น.ส.บี กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เรื่องกลับเงียบหาย และได้รับคำตอบจากนายอำเภอว่า “เรื่องแบบนี้ที่ไหนใคร ๆ ก็ทำกัน อย่ามาร้องเรียนเลย และเงินจะให้มันตรงเป๊ะ มันเป็นไปไม่ได้” พร้อมยืนยันว่าผู้กระทำผิดจะได้รับโทษ แต่ในความเป็นจริง กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ แถมตนกลับถูกกลั่นแกล้ง มีหนังสือขอคืนตัวไปยังต้นสังกัดโดยไม่แจ้งให้ทราบแน่ชัดว่าจะถูกย้ายไปที่ใด แม้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะยืนยันว่าไม่สามารถย้ายตนได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่กลับเปิดช่องให้สาธารณสุขอำเภอดำเนินการลงโทษตนได้หากพบว่ากระทำผิด
หลังจากได้ชมรายการข่าว และได้ฟัง ทนายกบ พูดถึงรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าคนไทยทุกคนต้องช่วยกันต่อต้านการทุจริต ทำให้ตนเกิดคำถามว่า สิ่งที่ทำอยู่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ หรือว่าสิ่งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตน ปัจจุบันตนเกิดภาวะเครียดจนต้องเข้าพบจิตแพทย์และรับยารักษาอาการ แต่ยังคงทำงานตามปกติ พร้อมยืนยันว่า ต้องการความเป็นธรรมและต้องการให้มี กระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ใครถูกก็ว่าไปตามถูก ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ใช่การใช้อำนาจกลั่นแกล้งกัน
น.ส.บี ย้ำว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ตนพยายามอย่างหนักเพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม แต่สุดท้ายกลับได้รับคำตอบเดิม ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีมาตรการใด ๆ ดำเนินการกับผู้ที่กระทำผิด แต่กลับเป็นตนที่ถูกกลั่นแกล้งจนเครียดต้องเข้าพบจิตแพทย์ สุดท้ายจึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากตนถูกข่มขู่ เกรงจะถูกผู้มีอิทธิพลมาปองร้าย
ส่วนทางด้านทนายกบ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและหลักฐานการยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ รวมถึงพฤติการณ์ทุจริตในหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมาย เบื้องต้นตนจะพาผู้ร้อง เข้าพบ ดร.ธนกฤต ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม หลังจากที่ผู้ร้องได้พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม จากหลักฐานที่ได้รับ รวมถึงคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง นายอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และนิติกรจังหวัด พบว่ามีการพูดคุยกันในลักษณะว่า ‘ที่ไหนก็ทำกันทั้งนั้น’ และเมื่อตรวจสอบเอกสารก็พบว่าเรื่องนี้มีมูลความจริง
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายความผิดใน 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ทุจริต ยักยอก หรือฉ้อโกงเงินหลวง 2.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3.ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดทางอาญา ไม่ให้ต้องรับโทษ 4.ผิดวินัยและจริยธรรมข้าราชการ บุคคลใดที่ช่วยเหลือ หรือพยายามปกปิดไม่ให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษทางอาญา ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน พร้อมฝากเตือนประชาชนว่า อย่าหวังพึ่งหน่วยงานรัฐว่าจะสุจริตและโปร่งใส เราทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบและสอดส่อง
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ หากพบการทุจริตแล้วไม่ดำเนินการ วันข้างหน้าคุณอาจตกเป็นผู้ร่วมกระทำผิดเอง และผลทั้งหมดจะย้อนกลับมาที่ตัวคุณเอง ทั้งนี้ทนายกบ ยืนยันว่าหากประชาชนรายใดรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อมาได้ ตนพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม