ศาลยุติธรรม ชี้แจง 2 โครงการก่อสร้าง วัสดุ-คุณภาพงาน เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งทดสอบกับสถาบันที่ได้รับการยอมรับ ขณะที่ขั้นตอนก่อสร้างได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม มีสามัญวิศวกรดูแลคุมงาน
กรณีเหตุการณ์อาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อบ่ายวันที่ 28 มี.ค.68 ซึ่งอาคารดังกล่าวมีบริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในกิจการร่วมค้าเป็นผู้รับจ้าง และบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนกิจการร่วมค้าเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างอาคารของสำนักงานศาลยุติธรรมรวม 2 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จำนวน 72 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม จำนวน 98 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 วงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญา 386,000,000 บาท และโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.65 วงเงินก่อสร้างตามสัญญา 782,666,000 บาทนั้น
ล่าสุดวันนี้ (2 เม.ย.68) สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า โครงการแรก บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท อัครกร ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด จดทะเบียนกิจการร่วมค้าในนามกิจการร่วมค้า เอ เค ซี โครงการที่สอง บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท อัครดวงแก้ว เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนกิจการร่วมค้าในนาม กิจการร่วมค้า เอ ซี คอนสตรัคชั่น ยื่นประมูลงานโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยกิจการร่วมค้าทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และมิได้เป็นผู้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทิ้งงานกับกรมบัญชีกลาง จึงเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยการเสนอราคาต่ำที่สุด ในโครงการของสำนักงานศาลยุติธรรมทั้งสองโครงการดังกล่าว
จากการตรวจสอบ โครงการแรก มี บริษัท เอ็ม เจ อาร์ แมนเนจเมนต์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงาน โครงการที่สองมีบริษัท เบสท์ โปร วิศวกรรม จำกัดเป็นผู้ควบคุมงาน โดยทั้งสองโครงการ ผู้รับจ้าง และผู้ควบคุมงานต่างมีสามัญวิศวกรเป็นผู้ดูแลครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญา สำหรับการตรวจสอบวัสดุและคุณภาพงานทั้งสองโครงการเป็นไปตามมาตรฐาน และมีขั้นตอนงานก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม เช่น วัสดุที่ใช้ในโครงการมีการขออนุมัติผ่านผู้ควบคุมงานตรวจสอบว่ามีมาตรฐานตรงตามรายการประกอบแบบหรือไม่ แล้วจึงนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนนำมาใช้ในโครงการทุกครั้ง
สำหรับการตรวจสอบคุณภาพงาน ผู้รับจ้างจะต้องจัดทำเอกสารขออนุมัติทำงาน (request) เพื่อให้ผู้ควบคุมงานตรวจสอบอีกครั้งและมีการส่งวัสดุไปทดสอบคุณสมบัติกับทางสถาบันที่ได้รับการยอมรับ และอนุมัติจากทางคณะกรรมการตรวจรับพัสดุแล้ว เช่น ในโครงการแรกเหล็กเสริมคอนกรีตส่งไปตรวจสอบที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และเก็บตัวอย่างคอนกรีตที่ใช้ไปทดสอบที่หน่วยงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาทุกครั้ง โครงการที่สองเหล็กเสริมคอนกรีตส่งไปตรวจสอบที่หน่วยงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปทุมธานีทุกครั้งเช่นกัน ผลการตรวจสอบปรากฏว่าเหล็กเส้นทุกขนาดและคอนกรีตที่นำเข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างทั้งสองแห่ง ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมและผ่านการทดสอบคุณสมบัติจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด
สำหรับความก้าวหน้าของงานในโครงการแรกดำเนินการไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 83.97 มีการเบิกงวดงานไปแล้วคิดเป็น ร้อยละ 36.85 งานมีความล่าช้าจากข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค.68 ล่าช้าเป็นเวลา 488 วัน ส่วนโครงการที่สอง ดำเนินการไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 20.67 มีการเบิกงวดงานไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 11.74 จากข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.68 งานล่าช้าเป็นเวลา 616 วัน
นอกจากความล่าช้างานก่อสร้าง ทั้งสองโครงการมีคุณภาพงานเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา มีขั้นตอนงานก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม และการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างที่ชำระต่ำกว่าผลงานที่ผู้รับจ้างดำเนินการไปแล้ว หากผู้รับจ้างไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาสำนักงานศาลยุติธรรมสามารถเปิดประมูลหาผู้รับจ้างที่มีคุณสมบัติรายอื่นมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้