เวลา 15.05 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลตรีหญิง คุณหญิงชยุตรา วชิรพัทธโสภา เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธียกช่อฟ้าหอสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดแค อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งคณะกรรมการวัดฯ และคณะศิษยานุศิษย์ของพระครูไพศาลธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดแค ร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ สามเณร และสถานปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี 2558 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม แล้วเสร็จเมื่อปี 2567
ในการนี้ ผู้แทนพระองค์ประกอบพิธียกช่อฟ้าหอสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ สุหร่าย เจิม ปิดทอง ผูกผ้าสีชมพู แล้วคล้องพวงมาลัย ถือสายสูตรยกช่อฟ้าหอสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ แล้วเข้าหอสวดมนต์ วางพวงมาลัย จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธสิทธิเตชาภินิหาร พระพุทธโลกนาถประสาธน์นรินทมาลัยไพศาลสมานบูชิต พระพุทธมหาสุพรรณมิ่งมงคล พระพุทธรูป 3 องค์ (3 สมัย) พระประธานประจำหอสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ แล้วลงนามบนแผ่นศิลา
วัดแคเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างเมื่อปี 2034 ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นวัดในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีชื่อปรากฏอยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องจริงที่อยู่ในสมัยอยุธยา ในราวสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา และยังมีหลักฐานทางโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปในวิหารเก่า ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน มีการกล่าวถึงวัดแคอยู่หลายตอน ด้วยเป็นวัดที่ขุนแผนมาเรียนวิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อ-ตัวแตนกับสมภารคง ภายในวัดมีต้นมะขามยักษ์ขนาดใหญ่ 9 คนโอบ หรือวัดโดยรอบประมาณ 10 เมตร มีความเชื่อว่าเป็นต้นเดียวกับที่สมภารคงใช้สอนวิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อให้สามเณรแก้วหรือขุนแผน
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ประทับที่ท่าน้ำวัดแค เพื่อเสวยพระกระยาหารเย็น หลังจากนั้นนิมนต์พระภิกษุกัน เจ้าอาวาสวัดแคในขณะนั้น เข้าพระบรมมหาราชวัง โดยได้ถวายบริขาร มีบาตร พัดรอง เรือ และตู้หนังสือไม้สัก ปัจจุบันตู้ไม้สักยังคงเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ ภายในวัดมีโบราณวัตถุศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์และสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ