กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแถลงข่าวชี้แจงความคืบหน้าการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันเหล็ก 2 ไซซ์ไม่ผ่านมาตรฐานการยืดตัว-ค่ามวลต่อเมตร เตรียมไปเก็บตัวอย่างเพิ่มทั้ง 4 โซนของอาคาร โดยเฉพาะเหล็กที่อยู่ในเสาปูน
วันนี้ (10 เม.ย. 2568) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุตึก สตง. ถล่ม จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารมา 7 ไซซ์ จำนวน 28 เส้น โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า พบตัวอย่างเหล็กเส้นไม่ผ่านมาตรฐาน 2 ขนาด คือขนาด 32 มม. ค่าการยืดตัวที่ต่ำผิดปกติ และ 20 มม. ไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องค่ามวลต่อเมตร
ทั้งนี้วันที่ 11 เม.ย. 68 จะมีการเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้ง ซึ่งเป็นการบูรณาการเข้าไปตรวจเลือกตัวอย่าง ทั้ง 4 จุดของตัวอาคาร สตง. ที่พังถล่ม โดยเฉพาะเหล็กที่อยู่ในเสาปูนซึ่งคิดว่าเป็นตัวหลัก
และถือว่าการเข้าไปเก็บตัวอย่างครั้งนี้จริงจังกว่ารอบที่แล้ว เนื่องจากรอบที่แล้วเข้าไปได้เพียงแค่ด้านหน้า แต่รอบนี้สามารถเข้าไปภายในตัวอาคารได้ลึกกว่าเดิม และสามารถเก็บตัวอย่างเหล็กได้ทั้งสี่มุมของอาคาร
"มาตรฐานของเหล็กเส้น ตรวจ 100 ต้องถูกทั้งหมด 100 มันไม่มีตกบ้างผิดบ้างผ่านบ้าง เพราะมันคือคำว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้า ถ้าอาคารอาคารหนึ่งมีเหล็กเส้นอยู่ 1000 เส้น ถ้ามันมีซักเส้นเดียวที่มันด้อยคุณภาพ มันอาจจะทำให้ทั้งอาคารร่วงลงมาได้ นี่คือคำว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้า"
นอกจากนี้การตรวจสอบย้อนกลับพบว่าเหล็กดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่จังหวัดระยอง ซึ่งถูกสั่งระงับการผลิตและจำหน่ายชั่วคราวตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังตรวจพบการผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเหล็กข้ออ้อยที่นำไปใช้ในไซต์ก่อสร้างหลายแห่ง รวมถึงอาคาร สตง.
กระทรวงอุตฯ เปิดเผยว่าแม้บริษัทจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับโครงการก่อสร้างดังกล่าวโดยตรง แต่กลับไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเส้นทางการจำหน่าย ล็อตการผลิต หรือรายชื่อลูกค้าที่ซื้อเหล็กล็อตเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนด อาจนำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 56 ของกฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังพบของเสียจากกระบวนการผลิต หรือ “ฝุ่นแดง” ในโรงงานมากกว่า 40,000 ตัน โดยไม่มีข้อมูลสมดุลมวลสารหรือหลักฐานการกำจัดที่ชัดเจน ตัวเลขของเสียที่แจ้งต่อกรมโรงงานกลับคงที่ทุกปีอย่างผิดธรรมชาติ ขณะที่เดือนมกราคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวกลับแจ้งขออนุญาตนำออกถึง 49,700 ตัน จนเกิดข้อสงสัยว่าโรงงานดำเนินกิจการจริงตามที่รายงานไว้หรือไม่
การตรวจสอบยังขยายไปถึงข้อมูลทางธุรกิจ พบว่าบริษัทแห่งนี้มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับบริษัทอื่นอีกไม่ต่ำกว่า 24 แห่ง และยังเกี่ยวข้องกับบริษัทผลิตเหล็กอีก 4 ราย มีความเคลื่อนไหวของเส้นทางเงินที่อาจเข้าข่ายเลี่ยงภาษีหรือปั่นราคา เพื่อแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมในตลาด เหตุนี้เอง กระทรวงอุตฯ จึงประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเรื่องนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ โดยเข้าหลักเกณฑ์ตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากความเสียหายเกิน 10 ล้านบาท และพบการครอบครองวัตถุอันตรายกว่า 45,000 ตัน
นอกจากการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะหน้า กระทรวงยังประสานกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิประโยชน์การลงทุนตามมาตรา 54 ของกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หลังพบว่าบริษัทอาจฝ่าฝืนเงื่อนไขด้านคุณภาพและความปลอดภัย อีกทั้งอาจมีการให้ข้อมูลเท็จต่อรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคาร สตง. นำโดยนายอรรถวิทย์ ภักดี พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและวัสดุก่อสร้างหลายฝ่าย โดยจะมีการตัดเหล็กในไซต์ก่อสร้างเพื่อตรวจซ้ำอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันศุกร์นี้ โดยยืนยันว่าทุกกระบวนการเก็บตัวอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่เลือกตัดเฉพาะจุดเสีย และสอดคล้องตามมาตรฐานการตรวจสอบระดับสากล
อีกประเด็นที่กระทรวงให้ความสำคัญ คือการปฏิรูปอุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพเหล็กจากเตาหลอมอินดักชั่น (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าที่ไม่สามารถคัดกรองสารปนเปื้อนได้เท่ากับเตาหลอมรุ่นก่อน แม้จะมีต้นทุนต่ำและได้รับความนิยมสูงในกลุ่มทุนต่างชาติ แต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดเหล็กด้อยคุณภาพจำนวนมากเข้าสู่ตลาด ปัจจุบันมีการประเมินว่าเหล็กจากเตา IF มีสัดส่วนมากถึง 50% ของตลาดในประเทศแล้ว
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า กรณีนี้ไม่ใช่เพียงความผิดพลาดของระบบควบคุมคุณภาพ แต่สะท้อนช่องโหว่ของนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยในระยะยาว พร้อมประกาศว่าจะเดินหน้าตรวจสอบอย่างถึงที่สุด โดยไม่เกรงใจผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มทุนใด ๆ และจะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ทุกขั้นตอน เพื่อคืนความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมไทย