”นายกฯ อิ๊งค์“ เผย สหรัฐฯ เคาะวันเจรจา 23 เม.ย.นี้ ถกกำแพงภาษี มั่นใจไทยต่อรองได้ ยอมรับ “ทักษิณ”ช่วยคุยนอกรอบ หลังเคยร่วมโต๊ะอาหารกับ “ทรัมป์”
(17 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเรื่องกำแพงภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการพูดคุยกันว่า กลุ่มประเทศอาเซียนจะรวมพลังอย่างไรได้บ้าง เพราะหากรวมประชากรในอาเซียนทั้งหมดถือว่า มีจำนวนมากและมีความแข็งแรง แต่ต้องมาดูว่า แต่ละประเทศจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นในการหาทางออก ในฐานะที่นายอันวาร์ เป็นประธานอาเซียนก็อยากได้รับความร่วมมือว่า จะมีทางออกและทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
สำหรับรายละเอียดของการเจรจา ยังไม่มีรายละเอียดหลัก ๆ ออกมาเป็นข้อ ๆ แต่เป็นการพูดคุยสนับสนุนในกลุ่มของอาเซียน ซึ่งประเทศไทยก็พร้อมให้การสนับสนุน และให้การร่วมมือ โดยจะเน้นในเรื่องของความสงบสุข ไม่เน้นเรื่องความรุนแรง อะไรที่สามารถเจรจาได้แบบวินวิน ก็จะพยายามทำแบบนั้น
ในส่วนการเดินหน้าของรัฐบาลไทยตอนนี้เดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรรออกมาเปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับคนรอบตัวนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลายครั้งแล้ว
นายกรัฐมนตรี บอกว่า ได้พูดคุยไปหลายคนแล้ว แต่เป็นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ จากตัวนายทักษิณเอง ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่เป็นการพูดคุยกับบุคคลที่มีตำแหน่งโดยตรง อาทิ รัฐมนตรีกับรัฐมนตรี ก็จะสามารถรวมความคิดเห็นได้ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็อยากได้ความเห็นของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งถือว่า เป็นการพูดคุยนอกรอบ แต่สำหรับการพูดคุยอย่างเป็นทางการมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะเป็นบุคคลไปเจรจาก่อน โดยนัดวันเจรจาไว้แล้วคือ 23 เมษายนนี้ ซึ่งเชื่อว่า ประเทศไทยมีความแข็งแรงในการไปเจรจาต่อรอง และมั่นใจว่า จะเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อ 2 ประเทศ ที่ต่างตอบแทนผลประโยชน์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากสองประเทศมีความสัมพันธ์มายาวนาน
ส่วนจะใช้อะไรเป็นแต้มต่อในการเจรจานั้น นายกรัฐมนตรีบอกว่า คงเป็นเรื่องของการค้าต่าง ๆ แต่ในส่วนของรายละเอียดขอให้นายพิชัย เป็นผู้แถลง เพราะการพูดคุยต้องพูดคุยแบบส่วนตัวก่อน ก่อนจะแจ้งออกสู่สาธารณะ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ก็จะเป็นในส่วนของระดับรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มั่นใจว่า จะเป็นรัฐมนตรีท่านใด ขอให้รอฟังอีกครั้ง
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะมีโอกาสต่อสายถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในเหตุการณ์ปกติสามารถทำได้ แต่ สถานการณ์ ณ ขณะนี้ มีหลายประเทศที่ต้องการจะพูดคุย ในส่วนประเทศไทยจึงขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งในหลายทางที่จะสามารถพูดคุยได้ก็จะดำเนินการเช่นนั้น ย้ำว่า ตัวเองก็ทำ แม้จะไม่เป็นทางการ แต่อะไรที่เป็น เรื่องของความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถเร่งรัดได้ก็จะทำ
นายกรัฐมนตรียังพูดถึงการเจรจาในครั้งนี้ว่า ได้เน้นในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย เพราะได้พูดคุยกับทีมงานว่า ประเทศไทยควรจะสนับสนุนภาคเอกชน ในการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ในขณะนี้รัฐบาลกำลังจะดำเนินการให้ชัดเจน หากมีความคืบหน้าจะเปิดเผยให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันหากภาคเอกชนต้องการจะลงทุนกับต่างประเทศ ต้องอาศัยพึ่งพากำลังของตัวเอง ส่วนตัวจึงเชื่อว่า หากภาครัฐเข้าไปสนับสนุนจะทำให้ยิ่งใหญ่ และดีกว่าเดิมได้ และในฐานะที่เคยอยู่ภาคเอกชน เชื่อว่า หากได้รับความร่วมมือกับทางภาครัฐก็จะสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มาก
ขณะที่ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานายทักษิณ ได้แนะนำระหว่างที่มีโอกาสได้นั่งรถด้วยกันในระยะเวลาสั้น ๆ ว่า ได้มีการอัพเดตว่า ช่วงที่ผ่านมา ตัวนายทักษิณเอง ได้ไปพูดคุยกับใครมาบ้าง และมีทิศทางไปในแบบใด เพราะช่วงที่ตัวเองเป็นเด็กมีโอกาสได้พบกับครอบครัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับประทานอาหารร่วมกัน ขณะเดินทางมาประเทศไทย และนายทักษิณได้บอกถึงความเป็นตัวตนของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ว่า เป็นนักธุรกิจแบบใด เพื่อทำให้สามารถพูดคุยกันได้ ถึงทั้ง 2 ประเทศก็ไม่อยากเสียผลประโยชน์ ซึ่งได้ให้แนวทาง และให้คำปรึกษาว่าจะสามารถพูดคุยออกมาในทิศทางแบบใดได้บ้าง
นายกรัฐมนตรียังบอกอีกว่า เรื่องนี้ต้องมีการปรับตัว เพราะการขึ้นภาษีในบางครั้ง ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ ทำให้ยังไม่มีมาตรฐานที่เป็นตัวเลขแบบชัดเจน เพราะบางอย่าง อาจจะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบ จึงต้องมาคุยในเรื่องของรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้มีการเท่าเทียมกัน จึงขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงทราบดีว่า ไม่มีใครอยากเสียผลประโยชน์ ซึ่งการเจรจาต่อรองต้องแข็งแรง โดยจุดแข็งของประเทศไทยก็มีในหลายเรื่องที่มีสินค้ามากมายที่ส่งให้สหรัฐฯ และมีราคาที่ดี และเหมาะสมหลายอย่าง และยังมีรายละเอียดอีกมากที่จะสามารถนำไปต่อรองได้ และทุกรายละเอียดเคยถูกกางออกมาแล้ว ก่อนมีมาตรการภาษี