“พาณิชย์” เผย “โปรตีนจากพืช” อาหารเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม กำลังบูมในตลาดเนเธอร์แลนด์ แนะผู้ประกอบการไทยหาช่องทางตีตลาด
วันนี้ (21เม.ย.68) นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสาวชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ระบุ เทรนด์อาหารสำหรับปี 2025 ในตลาดเนเธอร์แลนด์ ให้ความสำคัญกับอาหารที่เน้นสุขภาพ ความยั่งยืน และการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยและวิเคราะห์อย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยแนวคิดและประเด็นสำคัญเป็นเรื่อง “เนื้อสัตว์แห่งอนาคต” ที่ไม่ใช่แค่การแทนที่เนื้อสัตว์ด้วยโปรตีนจากพืช แต่ยังรวมถึงการให้คุณค่ากับเนื้อสัตว์ในรูปแบบใหม่ด้วย และแนวโน้มนี้บ่งชี้ว่าการผลิตเนื้อสัตว์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้น “เร็วกว่า ถูกกว่า และมากกว่า” โดยต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็เริ่มมีเปลี่ยนแปลงแล้ว และร้านอาหารจำนวนมาก ก็ได้นำเทรนด์อาหารมังสวิรัติและอาหารวีแกนมานำเสนอในเมนูอาหารของร้านมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์คุณภาพสูงและเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat) ในตลาดกำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้รับการอนุมัติแล้วในบางประเทศ แม้ว่าผู้บริโภคจะเปิดใจยอมรับผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจและข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร เนื่องจากมีการใช้พลังงานในการผลิตสูง แต่ในระยะกลาง โปรตีนจากพืช รวมถึงเห็ดและสาหร่าย อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญที่มีคุณค่ามากกว่าแค่เพียงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์
“ขณะนี้การบริโภคอาหาร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพ แหล่งที่มาของอาหาร คุณภาพของอาหาร อาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาหารที่มีนวัตกรรม และการไม่ก่อปัญหาขยะอาหาร หากผู้ส่งออก ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ที่ต้องการบุกเจาะตลาดเนเธอร์แลนด์ จะต้องนำ
เทรนด์เหล่านี้มาพิจารณา และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้มีโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารไปขาย และเพิ่มโอกาสในการขายอาหารในร้านอาหารของไทยที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ได้มากขึ้น”นางสาวสุนันทากล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169