“อลงกต” แจงใครไม่พอใจ ประเมินผลกระทบหลังแผ่นดินไหว ส่งเรื่องมาที่ สว.ได้ เตรียมชงปรับหลักเกณฑ์ เพิ่มค่าเสียหาย หลังเกณฑ์ไม่สอดคล้องความเป็นจริง มองปัจจุบันค่าวัสดุแพงขึ้น ด้าน “กมธ.องค์อิสระฯ ” เล็ง หาตัวการตึก สตง.ถล่ม เริ่ม 23 เม.ย. นี้ กำหนดกรอบ 90 วัน
วันนี้ (21 เม.ย.68) นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาบ้านพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุแผ่นดินไหวว่า ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการร้องเรียนว่า ได้รับความเสียหายประมาณ 32,279 ยูนิต ผ่านการรับรองแล้ว 878 ยูนิต ซึ่งเป็นยอด ณ วันที่ 19 เม.ย. และยังสามารถยื่นคำร้องได้ถึงวันที่ 27 เม.ย.นี้ ส่วนกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ทราบมาว่า ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางวุฒิสมาชิก จะมีหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย สภาวิศวกร เพื่อขอความช่วยเหลือดำเนินการส่งวิศวกร มาช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมเนื่องจากบุคลากรกรุงเทพมหานครมีไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า กระบวนการจะยังไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากนำตัวเลขที่กล่าวมา และมีความละเอียดอ่อนที่ต้องใช้กระบวนการทำประชาพิจารณ์ และการตรวจสอบของวิศวกรทั้งหมด
นายอลงกต กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. ได้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีที่มีข่าวว่า มีผู้ได้รับความเสียหาย ได้รับการประเมินราคาเยียวยาอยู่ที่ 70 หรือ 300 บาทในราคาที่ค่อนข้างต่ำ แต่ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ยึดระเบียบจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดราคาความเสียหายไว้ ซึ่งจะคล้ายกับการเกิดกรณีเพลิงไหม้ หรือพายุฤดูร้อน และน้ำท่วม ที่ทำให้บ้านเรือนเสียหาย จะเป็นการยึดตามระเบียบเดียวกัน และทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ โดยสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้สูงสุดอยู่ที่ 49,500 บาทต่อหลัง และต่อให้บ้านมีราคา 10 ล้านบาท ตามระเบียบก็ให้วงเงินมาเพียงเท่านี้
นายอลงกต กล่าวว่า หากจะมีการปรับระเบียบต้องไปแก้ระเบียบกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเป็นกรณีพิเศษเหมือนกับเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือที่ผ่านมาต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ที่พบว่า มีความเสียหายเกินกว่าระเบียบที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย โดยในเรื่องนี้สว. จะมีข้อสังเกตตรงนี้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเสียหายมากเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งต้องมีการปรับวงเงินมากกว่าปัจจุบัน และในระเบียบเดิมจะตีเป็นการเหมาจ่ายจะรวมค่าแรงด้วย แต่ที่มีความเป็นห่วงคือ ค่าวัสดุ อุปกรณ์ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน ก็จะส่งข้อสังเกตดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
นายอลงกต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องเชื่อวิศวกรที่เป็นผู้ประเมิน แต่หากประชาชนไม่พอใจในราคาประเมินก็สามารถยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการได้ หากอุทธรณ์แล้วยังไม่พอใจ ก็สามารถส่งเรื่องมาที่ สว.
นายอลงกต กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าผู้เสียหายที่ได้ยื่นเรื่องมาจะรับการเยียวยาทุกคน แต่อาจจะมีล่าช้าบ้าง แต่ชัวร์ ซึ่งกระบวนการตั้งเป้าว่า ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ที่คาดว่าจะจบภายใน 27 มิ.ย. โดยเฉพาะต่างจังหวัดน่าจะจบ แต่กรุงเทพมหานคร อาจจะล่าช้าเนื่องจากวิศวกรไม่พอ
เมื่อถามถึงกรณีที่มีประชาชนที่ยังไม่ได้ไปยื่นหนังสือ เพราะมองว่า หากไปยื่นก็ไม่คุ้มค่า นายอลงกต กล่าวว่า จุดอ่อนของกรุงเทพมหานครคือ แทนที่จะทำงานเชิงรุกไปสำรวจความเสียหาย แต่กลับรอให้ประชาชนมายื่นคำร้อง แต่เข้าใจว่าบุคลากรมีไม่เพียงพอจริง แต่ขอพูดในฐานะคนกลางที่เห็นใจทั้งกทม.และประชาชน และมาเจอคำถามขณะยื่นคำร้องว่า พังเสียหายจริงหรือไม่ ซึ่งหน่วยราชการควรถามว่า พังเสียหายระดับนี้จะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีการร้องเรียนเข้ามาทางกมธ. จะมีการเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม
ด้านนายสิทธิกร ธงยศ โฆษกกมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่าในวันพุธที่ 23 เม.ย.นี้ กมธ.องค์กรอิสระฯ จะประชุมเพื่อติดตามตรวจสอบหาข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์ตึกสตง. แห่งใหม่ ถล่ม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารสูง และหน่วยงานต่าง ๆ และสว.ที่เป็นวิศวกร เข้ามาหารือและร่วมตรวจสอบ โดยคาดว่า จะใช้กรอบเวลาไม่เกิน 90 วัน จะได้ข้อสรุปว่า สาเหตุเกิดจากอะไร หากพบมีใครเกี่ยวข้อง หรือเป็นตัวการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้โครงสร้างอาคารพังลงมา ก็จะยื่นองค์กรอิสระให้มีการตรวจสอบต่อไป