ดีเอสไอ พบเอกสารแก้แบบปล่องลิฟต์ ตึก สตง.มีปัญหา จ่อเรียก 40 วิศวกรสอบ ขีดเส้น 30 วันทำคดีนอมินี พร้อมเก็บตัวอย่างปูนทำโมเดลจำลองหาสาเหตุการถล่ม
วันนี้ (24 เม.ย.68) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อม ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดความคืบหน้าคดีอาคาร สตง. แห่งใหม่ถล่มว่า ดีเอสไอรับตรวจสอบ 4 เรื่อง ได้แก่ คดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 4 คน และดำเนินคดีกับบริษัทไชน่าเรลเวย์ฯ ในฐานะนิติบุคคลอีก 1 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ต้องหาเฟสแรก ซึ่งแจ้งว่าต้องการทำคำชี้แจงเป็นเอกสาร โดยเฉพาะประเด็นที่ดีเอสไอถามเรื่องการถือหุ้นแทนใครหรือไม่ แต่หากเจ้าตัวต้องการมาให้ปากคำด้วยตนเองก็สามารถมาพบพนักงานสอบสวนได้ ส่วนนายชวนหลิง จาง กรรมการชาวจีน ให้การค่อนข้างครบถ้วนแล้ว อีกทั้งมีเอกสารยืนยันว่าเป็นผู้แทนรัฐวิสาหกิจจีนจริง
ขณะนี้ยังไม่มีผู้ต้องหาเพิ่ม และยังไม่มีการออกหมายเรียกนายบิลลิง วู แต่จากรูปแบบการกระทำความผิดอาจมีเพิ่มเติมในบางส่วนที่ดีเอสไอกำลังขยายผล โดยคดีนี้ดีเอสไอจะเร่งสรุปสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และต่อจากคดีนอมินี ดีเอสไอจะขยายผลต่อไปยังคดีฮั้วประมูล ซึ่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยได้มีการออกหมายเรียกวิศวกรที่ยังไม่มาแสดงตัวแต่ปรากฎรายชื่อในเอกสารของโครงการประมาณ 40 คน เข้าให้ข้อมูลในฐานะพยาน เพื่อสอบถามว่ามีการควบคุมงานจริงหรือไม่ หรือถูกแอบอ้างชื่อปลอมลายเซ็น ส่วนกรณีนายสมเกียรติ เบื้องต้นพบว่ามีลายเซ็นในเอกสาร 16 รายการ และในแบบแปลนอีก 4 รายการ ที่นายสมเกียรติชี้ว่าเป็นลายเซ็นปลอม แต่อาจมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะดูไปได้เพียง 2 ลัง จากเอกสาร 12 ลัง นอกจากนี้ แบบแปลนแก้ไขที่มีปัญหาว่าถูกปลอมลายเซ็น คือ ครั้งที่ 1,2,4 และ 6 รวม 4 ครั้ง จากการแก้แบบ 9 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 4 กับ 6 ที่มีประเด็นว่ากระทบโครงสร้าง เป็นปัญหาเรื่องปล่องลิฟต์ ซึ่งเอกสารทั้งหมดได้ส่งไปตรวจลายนิ้วมือบนเอกสารแล้ว เพื่อหาตัวว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมลายเซ็น
ส่วนที่บริษัทไชน่าเรลเวย์ฯ เกี่ยวข้องกับการรับงานก่อสร้างโครงการของรัฐรวม 27 สัญญา จะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกสัญญาเหล่านี้หรือไม่นั้น ทางดีเอสไอต้องขอเวลาทำคดีให้แล้วเสร็จก่อน หากชัดเจนว่าเป็นบริษัทนอมินีคนต่างด้าวจริง ก็จะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
ส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ดีเอสไอร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เก็บตัวอย่างเหล็กที่อยู่ในโครงสร้างที่พังทลายแล้ว และตัวอย่างเหล็กจากไซต์งานก่อสร้างที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ รวมจำนวน 240 ชิ้นจากทุกโซน เพื่อนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบมาตรฐานอุตสาหกรรม หากตกมาตรฐานแล้วนำไปใช้ก่อสร้าง ทางสมอ. ก็จะทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษมาที่ดีเอสไอดำเนินคดี ส่วนปูนซีเมนต์ ดีเอสไอเก็บตัวอย่างก้อนปูนจากเกือบทุกโซน ยกเว้นโซน A ที่เสียหายอย่างหนักและยังเป็นพื้นที่กู้ภัยอยู่ โดยเก็บมาได้ 59 ตัวอย่างแล้ว และจะนำไปทำแบบโมเดลแบบจำลองการถล่มทางวิศวกรรม เพื่อหาสาเหตุของการถล่มต่อไป