ถุงพยาธิตืดหมู กระจายไปทั่ว อุทหรณ์สายกินของดิบ เนื้อดิบ กินแบบเป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดร.เจษฎา ช่วยขยายให้คำตอบวงชีวิตของพยาธิตืดหมู
วันนี้ (27 เม.ย.68) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีไอ้แจ๋ว เมืองจันท์ ได้แชร์ภาพจากประสบการณ์ที่พบในผู้ป่วยท่านหนึ่ง ที่พบเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ขณะทำงานเป็นผู้ช่วย X-ray ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจันทบุรี วันหนึ่งมีคุณป้าอายุเยอะ พอสมควรมา x-ray ช่วงสะโพกลงไปถึงขา พอจัดท่าวางฟิล์ม x-ray ก็ทำการเอกซเรย์ แต่ภาพที่ได้ออกมาทำให้ต้องไปตามเจ้าหน้าที่รังสีมาดูภาพ
"คำตอบที่ได้ทำเอาขนลุก มันคือพยาธิ พี่เจ้าหน้าที่รังสีบอกว่าเกิดจากการกินของดิบ เนื้อดิบ กินแบบเป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลานาน"
ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายภาพเอกซเรย์ดังกล่าวว่า มันคือสภาพของฟิล์มเอกซเรย์ ของผู้ป่วยที่เป็นโรค cysticercosis หรือ โรคถุงพยาธิตืดหมู เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อน (cysticerci) ของพยาธิตืดหมู (T. solium) ไปฝังตัวตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายคน เช่น ตามกล้ามเนื้อ สมอง ลูกตา หัวใจ ตับ ปอด และเยื่อบุช่องท้องเป็นต้น ทำให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น
รศ.ดร.เจษฎา บอกด้วยว่า ปกติแล้ว วงชีวิตของพยาธิตืดหมู T.solium นั้น จะพบระยะตัวอ่อน (cysticerci) อยู่ในหมูเท่านั้น แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับไข่ของพยาธิตัวตืดหมู เช่น จากการกินไข่พยาธิที่ปนอยู่กับอาหาร หรือจากการที่มีพยาธิในในลำไส้ แล้วขย้อยไข่พยาธิกลับมาที่กระเพาะหรือลำไส้เล็ก ไข่พยาธิ T. solium ก็สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้ แล้วจากนั้น ตัวอ่อนพยาธิจะไชทะลุ ผ่านผนังลำไส้เล็ก เข้าสู่กระแสโลหิต และไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ต่อมา เมื่อตัวอ่อนของพยาธิที่ไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เกิดตายลง จะมีเนื้อเยื่อและมีเซลล์อักเสบชนิดต่าง ๆ มาล้อมรอบถุงตัวอ่อนพยาธิ พร้อมกับมีสารแคลเซียมของร่างกาย มาพอกไว้ ทำให้สามารถคลำพบเป็นตุ่มแข็งตามผิวหนัง หรือเห็นเป็นเม็ด ๆ ได้จากภาพเอกซ์เรย์รังสีของผู้ป่วย