ปฏิบัติการคู่ขนาน สยบ “อีกัวน่า” คุมกำเนิด “ลิง”

ปฏิบัติการคู่ขนาน สยบ “อีกัวน่า” คุมกำเนิด “ลิง”

View icon 145
วันที่ 15 พ.ค. 2568 | 09.09 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ปฏิบัติภารกิจคู่ขนานใน จ.ลพบุรี เดินหน้าสยบ "อีกัวน่า" จอมป่วน ควบคู่คุมกำเนิด "ลิง" จอมซน

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ปฏิบัติภารกิจคู่ขนานในจังหวัดลพบุรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหา “อีกัวน่า” สัตว์ต่างถิ่นที่กำลังขยายพันธุ์และสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่เขาพระยาเดินธง อำเภอพัฒนานิคม ควบคู่ไปกับการควบคุมประชากร “ลิง” จอมซนที่สร้างความเดือดร้อนบริเวณวัดพระบาทน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอีกัวน่าว่า เจ้าหน้าที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และเทศบาลเขาพระยาเดินธง วางแผนปฏิบัติการระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2568 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรอีกัวน่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยจับกุมไปแล้วถึง 341 ตัวเมื่อเดือนเมษายน 2567 โดยล่าสุดสามารถจับอีกัวน่าได้เพิ่มเติมอีก 50 ตัว ซึ่งจะถูกนำไปดูแลยังศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

สำหรับวิธีการจับกุมอีกัวน่าในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปรับกลยุทธ์ โดยใช้การวางอวนในบริเวณสระน้ำ ร่วมกับการใช้สวิงตาข่ายและบ่วงคล้องในพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เทศบาล และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนร่วมปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ มิได้ละเลยปัญหาลิงที่สร้างความเดือดร้อนในเขตเมืองลพบุรี โดยได้สนธิกำลังทีมสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียง ร่วมกับมูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ ดำเนินการ “ทำหมัน” ลิงบริเวณวัดพระบาทน้ำพุ ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2568 ซึ่งล่าสุดสามารถจับและทำหมันลิงได้แล้วถึง 94 ตัว โดยลิงเหล่านี้จะได้รับการดูแลต่อในสถานอนุบาลของวัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้ลิงได้รับการดูแลตามหลักสวัสดิภาพสัตว์

นายอดิศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานควบคู่ทั้งสองภารกิจนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า และสร้างความสมดุลให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยจังหวัดลพบุรีถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาลิง ซึ่งกรมอุทยานฯ จะนำประสบการณ์และความสำเร็จไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกันต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง