มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลุยน้ำท่วมแม่สาย เก็บตัวอย่างน้ำ-ตะกอน เสนอรัฐแก้มลพิษข้ามแดน เกรงผลกระทบสารพิษปนเปื้อนระยะยาว
วันนี้ (24 พ.ค.68) มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่บริเวณสะพานมิตภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 อ.แม่สาย เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำและดิน จากน้ำท่วมบริเวณชุมชนเกาะทราย
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวย้ำ ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ไปประกอบการแก้ปัญหาหรือว่าการแก้ไขให้ตรงจุด
“สถานการณ์แม่น้ำกกกับแม่น้ำสายซึ่งกำลังปนเปื้อนสารพิษในเวลานี้ สำคัญมากที่สุดตอนนี้ต้องถามว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ต้องหาสาเหตุที่ชัดเจนที่ผ่านมามีข้อมูลว่ามาจากการทำเหมืองทองที่ผิดกฎหมายในเมียนมา ล่าสุดก็มีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธที่อยู่ใกล้กับจังหวัดเชียงรายด้วย แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือทำเหมืองที่ผิดกฎหมายก็บอกนัยยะว่าน่าจะไม่มีระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่มีระบบป้องกันมลพิษต่างๆหรือไม่ หรือมีระบบด้านการบริหารจัดการสภาพพื้นที่ให้ไม่มีการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะเป็นเหตุสำคัญเป็นที่มาของการปนเปื้อนโลหะหนักหลายหลายตัวในลุ่มน้ำสายหลักในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย”
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ เข้ามาเสริมหน่วยงานภาครัฐที่ทำไว้ เช่นตรวจน้ำที่ชาวบ้านใช้มีสารพิษหรือไม่โดยเฉพาะน้ำบ่อตื้น แหล่งน้ำดิบใช้ทำน้ำประปา พื้นที่การเกษตร เช่น นาข้าว ที่มีการใช้น้ำจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสาร ว่ามีการปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ รวมถึงการกระจายตัวของมลพิษหรือการสะสมของสารเหล่านี้เข้าไปในห่วงโซ่อาหารแล้วหรือไม่ จะเป็นอันตรายหรือไม่ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อการศึกษาเบื้องต้นถ้าหากมีอันตรายเกิดขึ้นจะได้เป็นการสื่อสารให้กับชาวบ้านและประชาชนได้ระมัดระวัง
พร้อมยอมรับ กรณีนี้เป็นมลพิษข้ามแดนที่ใหญ่มากๆ น่าจะแก้ไขยากเพราะเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของเหมืองที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเหมืองชนิดใด เกี่ยวข้องกับทางการเมียนมาและประเทศไทยส่วนที่เป็นปลายทางได้รับผลกระทบ แต่อาจมีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือประเทศจีนน่าจะเกี่ยวข้องอย่างน้อยสามประเทศการในการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งต้องมีการตั้งกลไกพิเศษขึ้นมา ให้เป็นกลไกที่สามารถเจรจาและหาทางออกร่วมกัน และอย่างน้อยกลุ่มว้าก็ต้องดึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในการเจรจาในการแก้ปัญหาร่วมกันซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควร