พบโครงกระดูกมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 2,500-1,500 ปี

พบโครงกระดูกมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 2,500-1,500 ปี

View icon 370
วันที่ 11 มิ.ย. 2568 | 09.18 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมเครื่องปั้นดินเผา ใน จ.นครราชสีมา คาดอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว

(10 มิ.ย.68) เพจ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ได้โพสต์ภาพโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมเครื่องปั้นดินเผา พร้อมระบุข้อความว่า “สืบร่องรอยมนุษย์โบราณ แห่งแดนดินถิ่นต้นลำน้ำมูล  ณ บ้านไร่แหลมทองพัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลลำเพียก อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 กลุ่มโบราณคดี พร้อมด้วยฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอครบุรี ร่วมกันตรวจสอบพบหลักฐานทางโบราณคดี ประเภทโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผา จากการกัดเซาะหน้าดินของฝนที่ตกหนัก ในพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านไร่แหลมทองพัฒนา ตำบลลำเพียก อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

ผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งฝังศพของมนุษย์ในวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการกัดเซาะของหน้าดินทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์ ถูกฝังในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสรีระและกระดูกเชิงกรานที่มีขนาดเล็กและแคบ เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า เป็นเพศชาย ที่มีส่วนสูงประมาณ 168 เซนติเมตร บริเวณปลายเท้าฝังภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาไว้เป็นของอุทิศให้กับศพ จำนวน 5 ใบ

เมื่อเดินเท้าสำรวจผิวดินบริเวณใกล้เคียง พบหลักฐานทางโบราณคดี ประเภท 1) กระสุนดินเผา 2) ขวานหินขัด 3) ตะกรันโลหะ และ 4) ภาชนะดินเผาเเละชิ้นส่วนภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วบริเวณ โดยเมื่อพิจารณาร่วมกับลักษณะประภูมิเทศในแถบนี้ที่เป็นที่ราบติดกับเทือกเขา จึงสันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณในแถบนี้ นอกจากจะดำรงชีวิตด้วยเกษตรกรรมแล้ว ยังหาของป่า-ล่าสัตว์ ในป่าหลังบ้านของพวกเขา โดยมีกระสุนดินเผา สำหรับยิงสัตว์ และขวานหินขัด สำหรับแร่เนื้ออีกด้วย สำหรับตะกรันโลหะที่พบ ทำให้นักโบราณคดีตั้งข้อสันนิษฐานว่า มนุษย์โบราณในพื้นที่บ้านไร่แหลมทองพัฒนาแห่งนี้ รู้จักการถลุงโลหะอีกด้วย

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จึงกำหนดอายุร่องรอยของมนุษย์โบราณที่พบในครั้งนี้ อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว ด้วยข้อจำกัดของการพับหลักฐานด้วยความบังเอิญ จึงไม่สามารถชี้ชัดอายุสมัยที่ชัดเจนได้

การค้นพบหลักฐานในครั้งนี้ ช่วยเติมเต็มข้อมูลร่องรอยของมนุษย์โบราณวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  โดยพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดนครราชสีมาคงมี “ของป่า” เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับชุมชนพื้นที่ตอนบนของจังหวัดนครราชสีมาที่มี “เกลือสินเธาว์” เป็นผลิตภัณฑ์หลัก สะท้อนให้เห็นความสมบูรณ์ของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาของเรา อันเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญที่ดึงดูดให้มนุษย์โบราณเลือกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ดังที่ปรากฏร่องรอยของมนุษย์โบราณในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามาไม่น้อยกว่า 3,700 ปี

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ขอขอบพระคุณภาคราชการเเละภาคประชาชนที่แจ้งการพบหลักฐานทางโบราณคดีมายังสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ส่งผลให้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบอย่างทันท่วงที เป็นประโยชน์กับการวิชาการโบราณคดีนครราชสีมา เเละโบราณคดีประเทศไทย ต่อไป"