ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (61)
(พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต วันศุกร์ 31 ต.ค.2518)
วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆคนจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อน(ทั้ง)นั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (62)
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2528 วันจันทร์ 31 ธ.ค.2527)
ถ้าถูกแดดถูกฝน อนามัยแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร ทำให้แข็งแกร่งจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อประสบอุปสรรคและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เราก็ขุ่นหมองแต่ถ้าจิตใจเราแข็งแรง แข็งแกร่งดี อุปสรรคนั้นจะทำให้สามารถที่จะทำให้มีอำนาจจิตดีขึ้นมีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ไม่เป็นผลร้ายต่อตัวเรากลับทำให้ใจเราแข็งแกร่งแข็งแรง
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (63)
(ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุม มธ. วันเสาร์ 7 มี.ค.2513)
ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจในกันและกันได้ทุกกรณี โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้น ทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราวปัญหาและกระทำได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี มีประสิทธิผล
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (64)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดี 2 ก.ค.2535)
จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทั้งจิตใจทั้งความประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุกสงบ
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (65)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้
การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูงและอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (66)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันพฤหัสบดี 13 ธ.ค.2505)
สังคมและบ้านเมืองใด ให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆคนจึงต้องถือว่า ตัวของท่านมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์โดยเต็มกำลัง จะประมาทหรือละเลยมิได้
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (67)
(พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ 27 ก.ค.2524)
หลักของคุณธรรม คือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (68)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ 10 ก.ค.2535)
การศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศและของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้ประเทศทั้งหลายจึงต่างพยายามส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมนี้ พร้อมกันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (69)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันศุกร์ 10 ก.ค.2535)
การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (70)
(ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ รร.นายร้อยตำรวจฯ วันจันทร์ 10 มี.ค.2529)