พระบรมราโชวาท

  • ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น

    พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (71)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 11 ก.ค.2535)

  • การมีวินัย มีความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ ถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญประจำตัวของคนทุกคน แต่ในการสร้างเสริมคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ จะต้องไม่ลืมว่า วินัย สามัคคี และหน้าที่นั้น เป็นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งย่อมให้คุณหรือให้โทษได้มากเท่าๆ กัน ทั้ง 2 ทาง เพราะฉะนั้น เมื่อจะอบรม จำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อนว่า เป็นวินัยสามัคคีและหน้าที่ดีคือ ปราศจากโทษ เป็นประโยชน์ เป็นธรรม

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัว... (72)

    (พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ วันอังคาร 12 ก.ค.2526)

  • ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (73)

    (พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันเสาร์ 25 มี.ค.2515)

  • ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง กล่าวคือ ถ้าคนเราคิดดี คิดถูกต้อง ทั้งตามหลักวิชาและคุณธรรม คำพูดและการกระทำก็เป็นไปในทางที่ดีที่เจริญ แต่ถ้าคิดไม่ดีไม่ถูกต้อง คำพูดและการกระทำก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวมได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นคุณ เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (74)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย วันพุธ 9 ก.ค.2540)

  • ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (75)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 31 ก.ค.2539)

  • งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (76)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 10 ก.ค.2536)

  • การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (77)

    (พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 18 ก.ค.2541)

  • การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (78)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดี 17 ธ.ค.2541)

  • เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตน บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคมคนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (79)

    (พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 16 วันเสาร์ 30 พ.ค.2524)

  • ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (80)

    (พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย วันพุธ 20 พ.ย.2539)

‹ First  < 6 7 8 9 >