สุขทุกข์เกษตรกรไทย วันนี้เป็นอย่างไร

สุขทุกข์เกษตรกรไทย วันนี้เป็นอย่างไร

View icon 110
วันที่ 1 ธ.ค. 2565 | 15.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะพาทุกคนไปสำรวจสุขทุกข์ของเกษตรกรไทยในยุคนี้กัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พึ่งเปิดผลการศึกษาเรื่อง “ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทย” ซึ่งสำรวจความผาสุกหรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยมิติต่างๆ

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทยทุกปี คำนวณจากข้อมูลทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการคำนวณ ประยุกต์จากสูตรดัชนีความยากจนมนุษยชาติ (Human Poverty Index: HPI) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP

ปกติสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดำเนินการจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรทุกปีต่อเนื่องโดยตลอด ยกเว้นในปี 2563 ที่สถานการณ์โควิด 19 รุนแรง ทำให้ขาดข้อมูลจากบางหน่วยงาน เนื่องจากไม่สามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลบางตัวสำหรับการคำนวณดัชนีความผาสุกของเกษตรกรปี 2563 ได้

ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2564 ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ 81.10 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 81.48 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสรุปว่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับดี และเมื่อแยกตามภาค พบว่าทุกภาค ทั้งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ทุกภาคมีคะแนนเกินค่า 80 ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับดี

ขณะที่เมื่อแยกพิจารณาแต่ละด้าน พบข้อมูลน่าสนใจ สามารถสรุปเป็นสุขทุกข์ของเกษตรกรได้ โดยมี 2 ด้านที่ได้คะแนนในเกณฑ์ดีมาก มี 1 ด้านได้คะแนนในเกณฑ์ปานกลาง และมี 2 ด้านที่ได้คะแนนในเกณฑ์ต้องปรับปรุง

· 2 ด้านที่ได้คะแนนในเกณฑ์ดีมาก ได้แก่ ด้านสุขอนามัย และด้านสังคม คือได้คะแนนเกิน 90 ในภาพรวมคะแนนระดับประเทศอยู่ที่ 98.77 และทุกภาคได้คะแนนเกิน 97 ทั้งสิ้น ขณะที่ในด้านสังคม ภาพรวมระดับประเทศอยู่ที่ 92.64 และทุกภาคได้คะแนนเกิน 90 เช่นกัน

· ด้านที่ได้คะแนนในเกณฑ์ปานกลาง คือ ด้านเศรษฐกิจ ภาพรวมระดับประเทศอยู่ที่ 77.31 จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้น่าสนใจว่าเมื่อแยกย่อยแต่ละภาค ผลค่อนข้างแตกต่างกัน โดยภาคใต้มีค่าดัชนีมากสุดอยู่ที่ระดับ 86.28 ซึ่งอยู่ในระดับดี ขณะที่ภาคอีสานและกลางอยู่ที่ 78.60 และ 76.96 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนภาคที่ต้องปรับปรุง คือภาคเหนือที่ได้คะแนน 69.15 ซึ่งต่ำกว่าภาคอื่นค่อนข้างมาก

· 2 ด้านที่ได้คะแนนในเกณฑ์ต้องปรับปรุง คือด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา โดยในด้านสิ่งแวดล้อม คะแนนรวมระดับประเทศอยู่ที่ 64.49 ภาคที่ได้คะแนนมากสุดคือภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 77.48 รองลงมาคือภาคกลางอยู่ที่ 66.24 ภาคใต้อยู่ที่ 60.74 ภาคที่เกษตรกรเผขิญปัญหาด้านนี้มากสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้คะแนนเพียง 57.08 นับว่าต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้คะแนนรวมระดับประเทศด้านสิ่งแวดล้อมยังลดลงจากปี 2652 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า เนื่องจากในปี 2564 มีพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดินลดลงจากปี 2562 และสัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศยังลดลงจากนโยบายรัฐที่จัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าให้กับชุมชน ส่วนอีกด้านที่อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากๆ คือด้านการศึกษา ดัชนีด้านการศึกษาในภาพรวมอยู่ที่ 56.28 เท่านั้น ภาคที่น่าห่วงมากสุด ได้คะแนนน้อยสุดคือภาคเหนือ ได้คะแนนเพียง 51.67 หรือเรียกว่าเกือบสอบตก ส่วนภาคอื่นก็ได้คะแนนไม่สูงนัก ภาคใต้ได้ 62.19 ภาคกลางได้ 60.15 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ 56.03 ทั้งนี้คะแนนที่ต่ำ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า สาเหตุเพราะเกษตรกรรวมถึงสมาชิกในครัวเรือนส่วนมากมีการศึกษาเพียงระดับมัธยมต้น ส่งผลต่อการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

จากผลสำรวจชิ้นนี้ ทำให้เราเข้าใจชีวิตเกษตรกรดีขึ้น เราพบว่ามี 2 ด้านที่เกษตรกรไทยมีความสุขดี คือด้านสุขอนามัย และสังคม ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย ครอบครัวไทย ที่ยังมีความพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชุมชนมีความกลมเกลียว สนับสนุนช่วยเหลือดูแลกันได้ แต่ละครอบครัวมีการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้เกษตรกรในปัจจุบันยังสนใจเรื่องการทำการเกษตรหรือพืชสวนครัวแบบปลอดสารพิษมากขึ้น ตลอดจนรัฐและหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาลในชุมชนต่างๆ ก็สนับสนุน รณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพ การผลิตและบริโภคสินค้าปลอดสารพิษ

อย่างไรก็ตาม ด้านที่ชีวิตเกษตรกรไทยน่าเป็นห่วง คือ ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ที่อาจสรุปได้ว่าเกษตรกรไทยไม่ค่อยมีความสุขในด้านเหล่านี้เท่าใดนัก ประการสำคัญคือ นับวันความท้าทายในด้านเหล่านี้จะยิ่งมากขึ้น

ในแง่การศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของไทยในทุกมิติและทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ใช่แต่ครัวเรือนเกษตรกร แต่การที่เกษตรกรมีทักษะความรู้ไม่เพียงพอ ในยุคที่เทคโนโลยีสำคัญต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทำให้เกษตรกรเสี่ยงได้รับผลเสียในระยะยาว กระทบทั้งปริมาณผลผลิต คุณภาพผลผลิต รายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสมาชิกในครัวเรือน ขณะเดียวกันการจะแก้ปัญหานี้ก็ไม่ง่าย เนื่องจากการยกระดับการศึกษาต้องใช้เวลานาน การเรียนรู้เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับการที่สมาชิกครัวเรือนเลือกไม่เรียนต่อในระดับสูงกว่ามัธยมต้น ส่วนใหญ่เพราะต้องออกมาหางานทำ หารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ดังนั้นแม้รัฐจะจัดการศึกษาให้ฟรี แต่สมาชิกครัวเรือนเกษตรกรเหล่านี้ ยังมีค่าเสียโอกาส มีเงื่อนไขให้ไม่สามารถมาเรียนต่อในระดับสูงขึ้นอยู่ดี ทางที่เป็นไปได้คือ รัฐจำเป็นต้องจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร เช่น เทคโนโลยีที่ต้องใช้ เป็นเรื่องๆ ไป พร้อมอาจมีค่าเสียโอกาสเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียด้วย

ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อม นับวันจากปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้น ความทุกข์ของเกษตรกรในมิติสิ่งแวดล้อมเสี่ยงรุนแรงขึ้นและบริหารจัดการยากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสี่ยงกระทบทั้งสุขภาพ ผลผลิต และรายได้ในอนาคต งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า สถานการณ์โลกร้อนจะทำให้หลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรเสี่ยงสูญเสียผลผลิตเกษตรหลักของประเทศอย่างรุนแรง นอกจากนี้โลกร้อนยังส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง คุณภาพดินด้อยลง เกิดดินเปรี้ยว ดินเค็มมากขึ้น ยังไม่นับภัยพิบัติอื่นๆ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมที่ส่งผลเสียหายต่อผลผลิตโดยตรง ทั้งหมดนี้เสี่ยงซ้ำเติมความทุกข์เกษตรกรให้เพิ่มขึ้นในอนาคต

สุดท้าย ด้านเศรษฐกิจ แม้คะแนนยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการศึกษาที่เสี่ยงส่งผลต่อความสามารถในการผลิตและรายได้ในอนาคต ประกอบกับจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สำรวจเรื่องภาวะหนี้ของเกษตรกรไทย พบว่าปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ 1) รายได้น้อย ไม่พอใช้จ่าย ไม่พอชำระหนี้ ไม่พอเก็บสะสมเป็นทุน 2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ ขาดสภาพคล่องเป็นประจำ 3) รายได้ผันผวนสูง เกษตรกรบริหารจัดการเองลำบาก ดังนั้นแม้ปัญหาในมิติเศรษฐกิจวันนี้จะยังไม่รุนแรง แต่ในอนาคตเสี่ยงรุนแรงขึ้น และสร้างความทุกข์ให้เกษตรกรมากขึ้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความสุข ความทุกข์ของเกษตรกรไทยในยุคนี้ ที่ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด นำมาฝาก เพราะครัวเรือนเกษตรกรคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ สุขทุกข์ของพวกเขาควรได้รับความใส่ใจ