สธ.เผย พบผู้ป่วย OPD เพิ่มเท่าตัว คาดหลังปีใหม่โควิดพุ่ง เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

สธ.เผย พบผู้ป่วย OPD เพิ่มเท่าตัว คาดหลังปีใหม่โควิดพุ่ง เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

View icon 266
วันที่ 6 ธ.ค. 2565 | 16.46 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ซึ่งมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 คนภายใน 1 สัปดาห์นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจัยหนึ่งที่พบผู้เสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการจนเกิดจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไม่ต้องเข้ากักตัวเหมือนสมัยก่อน แต่ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) อย่างน้อย 5 วัน ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านก็สามารถป้องกันตนเองและออกไปข้างนอกได้ ทั้งหมดนี้ จึงมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ทั้งกลุ่ม 608 กลุ่มโรคร่วมได้มากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และผู้มีโรคร่วมและไม่ฉีดวัคซีน โดยพบร้อยละ 70 ในผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม ร้อยละ 50 ไม่ฉีดวัคซีนเลย ร้อยละ 20 ฉีดเพียง 2 เข็ม ดังนั้น ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจึงเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด คนที่ได้รับวัคซีนแล้วซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรค

ส่วนสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทุกระดับตั้งแต่ 1-3 ขณะนี้มีการใช้ไปประมาณ ร้อยละ 35 ยังมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยที่มีอาการได้อีกร้อยละ 60 เศษๆ แต่หากมีสถานการณ์ความรุนแรงที่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) เพิ่มก็เตรียมความพร้อมห้องต่างๆ ที่สามารถขยายได้ทันที

"สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารักษาแบบผู้ป่วยนอก ภาพรวมในสถานพยาบาลทั่วประเทศมีมากขึ้นเท่าตัว เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,000 คน หรือประมาณวันละ 700-800 คนจากเดิมช่วงที่สถานการณ์เบาบางเฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 2,000 คน  จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ช่วงปีใหม่นี้เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ไม่เฉพาะโควิด-19 แต่เชื้อไวรัสทุกตัวสามารถอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นได้นานมากขึ้น ส่งผลให้แพร่ระบาดมากขึ้น เป็นปกติของเชื้อไวรัสที่สามารถคงอยู่ได้นานในช่วงปลายฝนต้นหนาว และฤดูหนาว ส่งผลให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้น

ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้กักตัวเองอย่างน้อย 5 วัน แต่หากจำเป็นต้องออกไปภายนอก พยายามป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น โดยเฉพาะมาตรการป้องกันตนเองทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ ขอให้หมั่นปฏิบัติ ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอนช่วงปีใหม่ แต่จะขึ้นมากหรือน้อยอยู่กับการปฏิบัติตนของทุกคน แต่ไม่มีการปิดประเทศแน่นอน เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันได้มอบนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย หากได้รับวัคซีนช่วงนี้ก็จะสามารถป้องกันได้ทั้งช่วงปีใหม่นี้ และยังมีภูมิคุ้มกันต่อเนื่องไปได้ถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีโรคร่วมและเมื่อติดโควิด-19 แล้ว คิดว่าตัวเองอาการไม่รุนแรงจึงไม่ไปรพ.รักษาจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่ม 608 หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน แต่มีกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งที่อายุ 30 เศษ อยู่ในวัยทำงาน ถือว่าอายุยังน้อยและเสียชีวิตเฉียบพลันที่บ้าน กรมควบคุมโรคกำลังวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของรายดังกล่าว ทั้งนี้ คงต้องวิเคราะห์สาเหตุว่ามีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วยหรือไม่ กรณีที่เกิดจากโควิด-19 อาการจะไม่เสียชีวิตทันที แต่จะมีอาการเหนื่อยหอบก่อน เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะลงสู่ปอด แต่เชื้อไวรัสตัวอื่นบางตัวก็มีผลต่อหัวใจ จึงต้องวิเคราะห์ว่าเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนหรือจากโควิด-19