รัฐบาลกัดฟันอุ้มดีเซล 4 หมื่นล้าน ตรึงราคาที่ 35 บาทต่อลิตร หวังแบ่งเบาภาระประชาชน

รัฐบาลกัดฟันอุ้มดีเซล 4 หมื่นล้าน ตรึงราคาที่ 35 บาทต่อลิตร หวังแบ่งเบาภาระประชาชน

View icon 153
วันที่ 17 ม.ค. 2566 | 14.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (17 ม.ค.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้ ออกไปอีก 4 เดือน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาทต่อไป จากที่ราคาปัจจุบันควรจะขึ้นไปแตะระดับ 40 บาทต่อลิตร นานแล้ว 

“แม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุน 10,000 ล้านบาทต่อเดือน กองทุนน้ำมันติดลบเพิ่มขึ้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลง หรือต้องไปดึงรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาดูแล แทนที่จะนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นไปใช้ด้านอื่น แต่เพราะประชาชนยังประสบปัญหาและเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจตรึงราคาต่อไป ซึ่งเป็นลักษณะการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า ย้ำไม่มีอะไรที่ได้มาโดยเปล่าๆ” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05  รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถัน และรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซล ประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลดลง ประมาณ 5 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566  ถึง 20 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2566  นี้ 

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงที่เสนอในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้ จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้ จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษี