กฎหมายใหม่ JSOC ปล่อยนักโทษอันตราย พร้อมใส่กำไลอีเอ็มป้องกันก่อเหตุซ้ำ สูงสุด 10 ปี

View icon 86
วันที่ 24 ม.ค. 2566 | 05.12 น.
เช้าข่าว 7 สี
แชร์
เช้าข่าว 7 สี - เมื่อวานนี้เป็นวันแรกที่กระทรวงยุติธรรม บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันกระทำความผิดซ้ำ หรือ JSOC ส่วนวันนี้ก็จะเป็นวันแรกที่ปล่อยตัวนักโทษในคดีอุกฉกรรณ์ ถ้านึกไม่ออกว่าอุกฉกรรณ์แค่ไหน ให้นึกถึงคดีของ สมคิด พุ่มพวง, ไอซ์ หีบเหล็ก แต่เมื่อออกมาแล้วจะต้องถูกคุมความประพฤติด้วยการติดกำไลอีเอ็ม

เป็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งมี 4 มาตรการพิเศษ คือ การแก้ไขพื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการทางการแพทย์, มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ, มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน

โดยผู้กระทำความผิดที่เข้าข่าย จะเป็นความผิดในคดีฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ ตามประมวลกฎหมายอาญาจำนวน 12 มาตรา โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำที่ทำความผิดคดีดังกล่าวจำนวน 17,807 ราย

ระยะเวลาในการใช้มาตรการนี้มีตั้งแต่ 7 วัน - 10 ปี โดยทุกมาตรการรวมกันจะต้องไม่เกิน 10 ปี เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ ทั้งนี้เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันสังคม และคุ้มครองสิทธิอย่างเหมาะสม

โดยจะมีการใส่กำไลอีเอ็มในการติดตามเฝ้าระวัง การมีอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง นอกจากนี้ยังกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน จะช่วยสร้างความปลอดภัยแก่สังคมและประชาชนมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง