เคลียร์ให้ชัดกฎหมาย JSOC บังคับใช้อย่างไร

View icon 107
วันที่ 26 ม.ค. 2566 | 07.13 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - วันแรกของการบังคับใช้กฎหมาย JSOC มีผู้พ้นโทษอย่างน้อย 4 คน ที่ต้องพิจารณาใส่หรือไม่ใส่กำไลคุมประพฤติ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พ้นโทษกลับไปกระทำผิดซ้ำ

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการบังคับใช้กฎหมาย JSOC ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันแรกว่า ตามข้อมูลรายงานของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จะมีผู้ต้องขัง 4 คน ที่เข้าเงื่อนไขกฎหมาย JSOC ในจำนวนนี้มี 3 คน ที่กำหนดต้องสวมใส่กำไลคุมประพฤติ และ 1 คน ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ แต่ต้องมารายงานตัว หรือให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไปติดตามดูพฤติกรรม

โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาคุมประพฤติตามกฎหมายฉบับนี้ เริ่มจากที่จำเลยในคดีนั้น ๆ ถูกศาลพิพากษาโทษว่ามีความผิด ส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ เมื่อเข้าไปแล้วเรือนจำแต่ละแห่งจะจัดทำรายงาน เพื่อระบุว่าเป็นนักโทษที่กระทำผิดเข้าข่ายเงื่อนไข กระทำผิดต่อเพศ, ต่อชีวิตร่างกาย และอิสระภาพ หรือไม่ จากนั้นจะเสนอรายงานไปยังคณะอนุกรรมการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนทำเรื่องเสนอต่ออัยการ และเสนอต่อศาลเพื่อให้พิจารณามีคำสั่ง ซึ่งศาลอาจพิจารณาผลออกมาได้ 3 แนวทาง คือ ไม่เข้าเงื่อนไข, เข้าเงื่อนไข แต่ยังไม่จำเป็นต้องติดกำไลคุมประพฤติ ให้ผู้พ้นโทษรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หรือให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไปติดตามดูพฤติกรรมของผู้พ้นโทษแทน และต้องสวมกำไลคุมประพฤติ และสั่งคุมประพฤติ ซึ่งศาลอาจสั่งให้ต้องสวมกำไลคุมประพฤติตั้งแต่ 7 วัน ถึงสูงสุด 10 ปี

สำหรับผู้ที่ต้องสวมใส่กำไลคุมประพฤติ จะมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่เป็นอิสระ หากพบว่าออกนอกพื้นที่ หรือทำลายกำไลคุมประพฤติ เจ้าหน้าที่จะประสานอาสาสมัครในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน และเรียกผู้อุปการะที่ให้การรับรองมาสอบถามข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุทันที หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะถูกเสนอให้รับโทษในทางกฎหมายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง