ปักหมุดของดีทั่วไทย : ข้าวหลาม ภูมิปัญญาทำเงิน จ.เชียงใหม่

View icon 173
วันที่ 25 ม.ค. 2566 | 07.14 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ อาหารที่ต้องไปลองลิ้มชิมรส นอกจากไส้อั่ว และแคบหมู ก็คือ ข้าวหลามร้อน ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่อยู่คู่คนเชียงใหม่ คุณเกรียงไกร รัตนา จะพาคุณผู้ชมไปดูอาชีพข้าวหลามแบบล้านนา ใน "ปักหมุดของดีทั่วไทย"

อากาศที่หนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ทำให้คนเวียงเจียงใหม่ ต้องหาของร้อน ๆ กินกัน อาหารที่โปรดปราน ก็คือ ข้าวหลามล้านนา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปักหมุดของดีทั่วไทย จะพาคุณผู้ชมไปดูอาชีพของคนทำ "ข้าวหลาม" ซึ่งกว่าจะได้ข้าวหลามแต่ละกระบอก ไม่ง่ายเลย

เราปักหมุดมุ่งไปที่หมู่บ้านป่าห้า ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง ผมนั่งรถพ่วงลัดเลาะไปในหมู่บ้าน เพื่อไปหาไม้ไผ่มาทำกระบอกข้าวหลาม ซึ่งชาวบ้านนำพันธ์ุมาจากป่า แล้วปลูกขยายพันธ์ุไว้ริมเขา

กระบอกข้าวหลามล้านนา มีลักษณะเฉพาะ คือ ต้องเลือกจากต้นไผ่ข้าวหลามเท่านั้น ซึ่งลำต้นผอมสูง มีปล้องยาว 20-45 เซนติเมตร ยาวกว่าไผ่ทั่วไป และมีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี

การโค่นต้นไผ่ คุณพ่อจำรัส ใช้มีดเล่มเดียว ฟันอย่างช่ำชอง จนได้ไผ่สำหรับทำกระบอกข้าวหลาม โดยไผ่ 1 ต้น ทำกระบอกข้าวหลามได้ 24 กระบอก

และไปดูวิธีการทำข้าวหลามกันต่อ ที่นี่เป็นร้านขายข้าวหลามที่เก่าแก่ ในจังหวัดเชียงใหม่ และย่างขายกันสด ๆ ริมถนนกันเลย

เดิมข้าวที่ใช้ จะเป็นข้าวสาร มีไส้กะทิและไส้ถั่วดำเท่านั้น ต่อมาได้ดัดแปลงใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก และทำไส้งา และไส้หมูปิ้ง เพิ่มเติม เพื่อให้หลากหลายมากขึ้น

เราจะใส่ข้าวลงในกระบอกไผ่ ไม่ต้องใส่เต็ม ให้เหลือประมาณ 1 ข้อนิ้วชี้ จากนั้นนำใบเตย อุดปากกระบอกแล้วนำไปย่างได้เลย

เมื่อย่างเสร็จแล้ว ก็ต้องเหลากระบอกให้ขาว ดูสะอาดตา ซึ่ง พี่มานพ บอกว่าขั้นตอนนี้ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยความชำนาญ ไม่งั้นมีดอาจบาดมือ เสี้ยนตำมือ และเหลาไม่ดีนี่ทะลุถึงข้าวเลย ส่วนรสชาติข้าวหลามในกระบอก ต้องบอกว่า ลำขนาดคุณผู้ชม

ข้าวหลามเป็นอาหารพื้นถิ่นของคนเชียงใหม่ และสร้างรายได้ในแต่ละวันไม่น้อยกว่า 1,000 บาท เป็นของดีต้องปักหมุด ในจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง