โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แนะลูกหลานสังเกตอาการ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แนะลูกหลานสังเกตอาการ

View icon 319
วันที่ 25 ม.ค. 2566 | 10.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แนะลูกหลานสังเกตอาการ ชี้หากเกิน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์ แนะโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323

วันนี้(25 ม.ค.2566) เมื่อเวลา 10.00 น. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึง โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุโดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตว่า ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งหรือปล่อยให้อยู่ลำพัง โดยเฉพาะผู้สูญเสียคู่สมรสจะเกิดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า โดยสังเกตได้จากอาการนิ่ง เฉยชา ไม่อยากทำอะไร ซึ่งความเครียดที่เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่ออารมณ์และจิตใจ เมื่อผู้ป่วยเครียดมาก ๆ จนไม่สามารถจัดการได้ จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นลูกหลานตลอดจนญาติที่ใกล้ชิดควรให้ความใส่ใจและดูแล

อาการโรคซึมเศร้าที่พึงสังเกตได้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ นิ่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เป็นต้นว่าชอบนอนเฉย ๆ ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เข้านอนเร็ว ตื่นบ่อย ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ บางรายรับประทานอาหารจุ ไม่ค่อยมีสมาธิ หลงลืม ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำหรือเคยชอบ เช่น ไม่ขับรถ ไม่ชอบเข้าวัดทำบุญ ไม่ทำงานอาสาต่าง ๆ เหมือนอย่างที่เคยทำ บางรายก็จะบ่นปวดหัว ชอบพูดประชด เสียดสี ในรายที่มีอาการซึมเศร้าหนัก ๆ มักจะชอบคิดว่าอวัยวะภายในร่างกายบางส่วนหายไป ฯลฯ เหล่านี้เป็นผลจากความจำหรือความรู้สึกนึกคิดตลอดจนศักยภาพในการวางแผนตัดสินใจหายไป ที่เป็นความบกพร่องโดยเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ หากพบว่าคุณพ่อคุณแม่ ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ในบ้าน หากมีอาการข้างต้นนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเข้าข่ายเจ็บป่วยจากโรคซึมเศร้าแล้ว จึงควรรีบพาไปพบแพทย์

สำหรับภาวะความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ จำเป็นต้องได้รับการักษาพยาบาลที่ไม่ต่างจากความเจ็บป่วยทางกาย เพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยงให้เข้าถึงการรักษาและได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง 30 บาท นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกแล้ว สปสช.ได้สนับสนุนบริการ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สิทธิประโยชน์ใหม่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้บริการโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่มีศักยภาพให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่เป็นมาตรฐาน พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พร้อมให้คำปรึกษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ครอบคลุมทั้งการประเมินอาการและความรุนแรง การให้คำปรึกษา ประสานส่งต่อรักษา และติดตามอาการหลังให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิ์บัตรทอง 30 บาทเท่านั้น ส่วนสิทธิ์อื่น ๆ เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รอการประกาศอีกครั้ง โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 และช่องทางออนไลน์