สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดสุรินทร์

View icon 648
วันที่ 29 ม.ค. 2566 | 20.02 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.00 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังคณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรับเสด็จ ชุด เรือนอัปสรสราญ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งเป็นระบำที่คิดค้นขึ้นใหม่โดยนำรูปแบบท่ารำตามแบบฉบับพื้นเมืองสุรินทร์ มาผสมผสานท่ารำที่เป็นแบบแผนทางนาฏศิลป์ไทยและขอม เพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เลือกเพลงให้เห็นถึงความงามอ่อนช้อย สง่างาม และสนุกสนาน บรรเลงประกอบการร้องเป็นภาษาเขมรสุรินทร์ แบ่งเป็น 5 ทำนองเพลง

จากนั้น เสด็จไปยังห้องประชุมชมพูพันธุ์ทิพย์ ชั้น 3 ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้สามารถเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการฯ จาก 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเคยมีพระวินิจฉัยให้พัฒนา ประยุกต์ และปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะการย้อมสี พระราชทานคำแนะนำให้ใช้สีย้อมจากธรรมชาติ อาทิ ผ้าโสร่งโบราณ วิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย คล้ายกับผ้าขาวม้า แต่ผ้าโสร่งจะมีลายตารางที่มีขนาดใหญ่กว่า การทอสลับกันเป็นลายตารางหมากรุก หรือลายทอ โดยทอแบบผ้าพื้น 2 ตะกอ ใช้ไหมพุ่ง 2 เส้น 2 สีควบให้เป็นเส้นเดียว เรียกว่า การตีเกลียวทำหางกระรอก, กระเป๋าจักสานกก ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานกกเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยใช้หน่อกกที่ปลูกในพื้นที่สาธารณะของชุมชน และนำภูมิปัญญาผสมผสานการพัฒนารูปแบบ และลวดลายให้ทันสมัย จนได้รับคัดเลือกให้เป็นของที่ระลึกในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29, ผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ จากกลุ่มผ้าทอผ้าไหมบ้าน แฝก โนนสำราญ อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา ที่สมาชิกใช้เวลาว่างหลังการทำนา มาปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าผืน สำหรับใช้ในครัวเรือน ต่อมาพัฒนาทักษะรูปแบบการผลิตผ้าไหมและการใช้สีธรรมชาติ เพื่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดเฉดสีใหม่ที่มีความสวยงาม สะดุดตา, การรวบรวมกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ จากผาสาทแก้ว ผ้าทอลายโบราณ (เครือข่ายย้อมสีธรรมชาติ) จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งทรงให้รวบรวมองค์ความรู้ เรื่องกระบวนการย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง พร้อมบันทึกเป็นข้อมูลในสีที่แตกต่างจากสีหลัก และให้ทดลองใช้เชือกกล้วยมัดอย่างโบราณ เพื่อให้ได้เกล็ดหมี่ที่เล็ก คม และสวยงาม

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกศิลปาชีพ และกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง รวมทั้ง พระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัยมาถ่ายทอดสู่สมาชิกกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้า เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อาทิ กลุ่มจักสานไม้ไผ่ลายขิด จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านดอนคำ-เสนานฤมิตร บ้านหนองแต้ อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ทรงแนะนำให้ย้อมได้เฉดสีที่สวยงามก่อนจะขึ้นรูปทรง และผ้าไหมมัดหมี่ จากกลุ่มทอผ้าไหม โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ทรงแนะนำให้ย้อมสีผ้าให้สม่ำเสมอ เนื่องจากสีไม่ซึมเข้าผ้า ทำให้ลายผ้าไม่ชัดเจน ทั้งยัง โปรดให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน เทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์

จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู เช่น ผ้าไหมขิด Eco Print นารีรัตนราชกัญญา จากศูนย์การเรียนรู้ขวัญตา (กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตา) จังหวัดหนองบัวลำภู ที่นำลายพระราชทานมาออกแบบผสมผสานกับลายดอกบัว ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู นอกจากนี้ นำมาพัฒนาต่อยอดโดยการใช้หลักการทำงาน Eco Print เพื่อให้เกิดลวดลายใหม่ ๆ จากธรรมชาติของใบไม้ และดอกไม้ต่าง ๆ ในพื้นถิ่น พร้อมทอดพระเนตรการสาธิตและแสดงกระบวนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสุรินทร์, นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ 7 ลาย รวมทั้ง จัดแสดงผลิตภัณฑ์ของสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ ในการนี้ ทรงสนพระทัยกลุ่มทอผ้าไหม จากโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ที่ส่งเสริมและสอนการทอผ้าไหมในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3-6 ที่สนใจ โดยสอนตั้งแต่การถักไหม ย้อมสี และทอผ้า ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ รายได้หลังหักค่าต้นทุนแบ่งให้นักเรียนผู้ทอ และนำไปสนับสนุนการศึกษาดูงานนอกสถานที่

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมรำกันตรึม จากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, ประชาชนจากเทศบาลเมืองสุรินทร์ และกลุ่มสตรีแม่บ้านองค์การบริหารส่วนตำบลนอกเมือง โดยการแสดงรำกันตรึม สื่อให้เห็นถึงความสนุกสนาน รื่นเริง และความสวยงามของหญิงสาวชาวเขมรสุรินทร์ มีการนำจังหวะเพลงที่มีจังหวะเร็วมาบรรเลงและขับร้องต่อกันเป็นภาษาเขมร ใช้วงดนตรีพื้นบ้านกันตรึม ซึ่งเป็นวงดนตรีที่นิยมในเขตอีสานใต้ในแถบจังหวัดสุรินทร์

เวลา 17.42 น. เสด็จไปยังกลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมาของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บ้านท่าสว่าง ทอดพระเนตรผ้าไหมยกทองและการทอผ้าไหมยกทอง ซึ่งกลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้หาวิธีการผลิตผ้าไหมให้มีเนื้อนุ่มเนียน คุณภาพเทียบเท่าผ้าไหมโบราณ อาจารย์วีรธรรม จึงอาสากลับมารือฟื้นกระบวนการผลิตผ้าไหมของบรรพบุรุษ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูการทอผ้าแบบราชสำนัก โดยการทอผ้าไหมของกลุ่มมีความโดดเด่น คือ ความละเอียด และความนุ่มของเนื้อผ้าที่เกิดจากการเลือกเส้นไหมเส้นเล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีฟอกต้ม และย้อมด้วยสีธรรมชาติ

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการย้อมผ้าไหมจากสีธรรมชาติของจังหวัดสุรินทร์ โดยสีแดง ได้จากครั่ง, สีเหลืองอ่อน ได้จากเปลือกมะพูด, สีเหลืองแก่ ได้จากแก่นเข หรือ แกแล, สีน้ำเงิน ได้จากครามโดยกรรมวิธีโบราณ และสีเหลืองทอง ได้จากเปลือกผลทับทิม ส่วนสีสันอื่น ๆ เกิดจากการผสมสีจากแม่สีหลัก การมัดหมี่ด้วยลวดลายวิจิตร ซับซ้อน เน้นโทนสีน้ำตาล ดำแดง เป็นโทนเข้ม และมีการยกทองเพิ่มความงามเป็นเอกลักษณ์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยในความโดดเด่นของกรรมวิธีการทอผ้าที่สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทอง ซึ่งทำจากเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็ก ๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย มีเทคนิคการทอแบบเนื้อ 3 ตะกอ ที่ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ จึงต้องใช้คนทอ 4-5 คนต่อผืน ความละเอียดของการทอและเนื้องานทำให้ระยะเวลาการทอสามารถทอได้แค่ 5-7 เซนติเมตรต่อวัน โดยผ้าไหมแต่ละผืนหลังทอเสร็จจะมีความยาวเฉลี่ย 2 เมตร ใช้ระยะเวลาในการทอประมาณ 2 เดือน จึงทำให้ราคาของผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา มีราคาเฉลี่ยถึงเมตรละ 50,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท

พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรห้องจัดแสดงงานฝีมือที่ปักฉลองพระองค์บรมขัติราชภูษิตาภรณ์ และพระวิสูตรทองแผ่ลวด ประดับมณฑป พระกระยาสนาน สำหรับสรงพระมุรธาภิเษก สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ โรงทอ "อาจารย์วีรธรรม" ยังสะสมผ้าโบราณจำนวนหลายพันผืน ซึ่งได้จัดเก็บรักษาเป็นอย่างดีเพราะผืนผ้าแต่ละชิ้นล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางภูมิปัญญา โดยได้ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณให้ประชาชนทั่วไปได้เยี่ยมชม

ข่าวอื่นในหมวด