สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ ดังนี้

View icon 128
วันที่ 5 พ.ค. 2567 | 20.02 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.34 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จออก ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะผู้บริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าถวายเกียรติบัตรนิสิตเก่าเกียรติยศ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานถวายเกียรติบัตรนิสิตเก่าเกียรติยศ คณะศิลปกรรมศาสตร์แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง 40 ปี แห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณในวงวิชาการ ให้ผู้อื่นเจริญตามเบื้องพระยุคลบาท กับทั้งเพื่อเป็นเกียรติยศ และสิริมงคลแก่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบไป

เวลา 14.17 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังอาคารศูนย์สุขภาพและกีฬา โรงยิม ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เขตดุสิต ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตกรรมชุมชนภาคกลาง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชนหรือคณะกรรมการกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือ กลุ่มอาชีพ ในการนำแนวคิดสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล และมีองค์ความรู้สามารถเป็นวิทยากรแกนนำในการถ่ายทอดสู่คนอื่น ๆ ในชุมชนได้ โดยการน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย และ งานหัตถกรรมชุมชน เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน

โดยมีผู้ผลิต และผู้ประกอบการโอทอป จากจังหวัดชลบุรี, ตราด, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สมุทรสงคราม, สระแก้ว, สระบุรี, สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี นำผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชน มาจัดแสดง อาทิ ผ้าทอใยบัวหลวง จากกลุ่มพัฒนาเส้นใยและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยบัวหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่นำเส้นใยจากก้านดอกบัวหลวงมาดึงเส้นใยให้ยืดออกแล้วบิดเป็นเกลียว เพื่อนำมาใช้ในการทอร่วมกับเส้นฝ้ายและใช้สีธรรมชาติมาผลิตเป็นผืนผ้า แล้วแปรรูปเป็นเสื้อผ้า และกระเป๋า, ผ้าด้นมือ จากกลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมืออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือ ทำให้เกิดสีและลวดลายใบไม้จากพืชพื้นถิ่น หรือเรียกว่างาน Eco Print ผสมผสานกับลวดลายพระราชทาน ป่าแดนใต้, ผ้าทอมือใยอ้อยซาวตม จากกลุ่มทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ จังหวัดสระแก้ว นำใบอ้อยออกมาทำเป็นใยและทอเป็นผืนผ้า ย้อมด้วยสีธรรมชาติ และทำให้นุ่มด้วยการหมักกับน้ำซาวตม คือ ดินจากคลองในหมู่บ้าน โดยการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ได้ช่วยลดภาวะโลกร้อน จากเดิมที่เกษตรกรจะตัดอ้อยด้วยวิธีการเผา รวมทั้ง ผ้าบาติกน้ำเต้าหู้ จากกลุ่มบาติกน้ำเต้าหู้ จังหวัดลพบุรี ที่ทดลองนำน้ำเต้าหู้มาเขียนลายผ้าบาติกแทนการเขียนด้วยเทียนที่ต้องใช้สีเคมีสังเคราะห์

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการฯ เฝ้าถวายการบ้าน ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรงานนิทรรศการฯ เมื่อปี 2566 อาทิ ผ้าปัก ของสมาชิกโรงฝึกศิลปาชีพ บางไทร ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ การปัก มีความละเอียดดี แต่ผ้าบางผืนอาจไม่เหมาะกับชิ้นงาน ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมให้ทำลวดลายให้เด่นชัดขึ้น โดยดูจากสีผ้าพื้นเป็นหลัก, เซรามิก ของสมาชิกแผนกเซรามิก โครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พระราชทานคำแนะนำให้ปรับปรุงทรงภาชนะ สี และลวดลายใหม่ แต่ยังคงเอกลักษณ์ลายนกยูง สับปะรด และผึ้ง ส่วนงานของสมาชิกโรงฝึกศิลปาชีพ บางไทร ได้แก่ จักสานไม้ไผ่ ทรงชื่นชมการใช้สีธรรมชาติและการสานกระเป๋าที่มีความละเอียด โดยโปรดให้ทดลองทำสีอื่น ๆ เพิ่มด้วย รวมทั้ง จักสาน ย่านลิเภา ที่โปรดให้ทำเป็นดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ พระราชทานคำแนะนำให้ทำขนาดเล็กลง สำหรับเป็นพวงกุญแจห้อยกระเป๋า

ทั้งนี้ โปรดให้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้ง ดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทั้งเรื่องการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล

จากนั้น ทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากจังหวัดอ่างทอง, ราชบุรี, พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี รวมทั้ง งานหัตถกรรม ซึ่งได้นำวัสดุที่มีอยู่มากในพื้นที่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นมูลค่า ได้แก่ กระเป๋าเชือกมัดฟางไลฟ์สไตล์ จากกลุ่มกระเป๋าเชือกมัดฟางไลฟ์สไตล์ และกระเป๋าเชือกมัดฟาง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จังหวัดสระบุรี, กระเป๋าผ้าลายสานไม้ไผ่จากลาย S ผสมผสานลายดอกปีป จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหแสงชัยเสื่อลำแพนบ้านค้อ จังหวัดปราจีนบุรี และกระเป๋าสานจากผักตบชวา จากกลุ่มหัตถกรรมจักสานตำบลวัดละมุด จังหวัดนครปฐม

ภายในงานฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการการแสดงและสาธิตศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การจักสานด้วยไม้ไผ่ โดยศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2521 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ และเป็นแหล่งรวบรวมช่างฝีมือหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ ที่สืบทอดผลงานจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ และนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์จากจังหวัดภาคกลาง จำนวน 16 จังหวัด เช่น ผ้ามัดหมี่ลายพิกุลวังนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ผ้าลายมะยงชิด จังหวัดนครนายก ผ้าลายแตงโม จังหวัดเพชรบุรี และผ้าซิ่นตา จังหวัดราชบุรี

ข่าวอื่นในหมวด