โดนใบสั่งไม่จ่ายค่าปรับ ต่อภาษีได้แต่ไม่ได้ป้ายทะเบียน เริ่มใช้ 1 เม.ย.66

โดนใบสั่งไม่จ่ายค่าปรับ ต่อภาษีได้แต่ไม่ได้ป้ายทะเบียน เริ่มใช้ 1 เม.ย.66

View icon 3.7K
วันที่ 8 ก.พ. 2566 | 14.45 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมขนส่งทางบก เชื่อมข้อมูลตำรวจ ได้ใบสั่งค้างชำระค่าปรับยังต่อภาษีรถประจำปีได้แต่ไม่ได้ป้ายจริง ต้องจ่ายภายใน 30 วัน เชื่อมาตรการนี้ทำให้คนรักษาวินัยจราจรมากขึ้น

วันนี้ (8 ก.พ.2565)   พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  ร่วมกันแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลงเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

โดย ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 
มาตรการที่  1 การตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา  ซึ่งมีผู้กระทำผิดกฎจราจรและถูกตัดคะแนนแล้ว จำนวน 15,456 ราย

63e3542e890718.74181350.jpg

มาตรการที่ 2  คือมาตรการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ  ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Real Time เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระ

63e35451b16f65.48901605.png

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งข้อมูลไปยังนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก  เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี  นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี)  โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน  แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้  แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี  กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  ให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้เลยทันที

การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 11  ซึ่งกำหนดว่า รถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งกำหนดให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท  ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติได้จากเว็บไซต์ E-ticket PTM  และ แอปพลิเคชั่น ขับดี
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ถึงการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งค้างชำระของ 2 หน่วยงาน กรมขนส่งทางบกจะเริ่มใช้กับใบสั่งจราจรที่กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566  เป็นต้นไป  โดยไม่มีผลย้อนหลัง 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างวินัยจราจร จิตสำนึกด้านความปลอดภัยซึ่งจะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป