ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : หนุน Soft Power อัญมณีไทย

View icon 128
วันที่ 8 ก.พ. 2566 | 22.44 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้รับอานิสงค์ดีไปด้วย ปีที่แล้วประเทศไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้กว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทิศทางตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในปีนี้เป็นอย่างไร ติดตามใน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทย เติบโตได้ดีในปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ ตลาดยังมีความกังวล ทั้งปัญหาความขัดแย้งเดิมระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งปัญหาราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีไทย หันมาขับเคลื่อนกลยุทธ์อย่าง ซอฟพาวเวอร์ ก็น่าจะทำให้ตลาดเติบโตได้ตามเป้าหมาย

หากดูจากยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ ทั้งปี 2565 มีมูลค่ากว่า 7,987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.54% และหากรวมทองคำ มูลค่าจะเพิ่มเป็นกว่า 15,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนุนตลาดเติบโตกว่า 49.82%

ปัจจัยบวกของตลาด ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายสินค้าในกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งยังได้ผลพวงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลายเป็นแรงหนุนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ตลาดส่งออก 5 อันดับ ที่เติบโตได้ดี มีตลาดสหรัฐอเมริกา สัดส่วนเพิ่มขึ้น 21.51%, อินเดีย เพิ่ม 74.38%, ฮ่องกง เพิ่ม 16.26%, เยอรมนี เพิ่ม 1.03% และตลาดสหราชอาณาจักร เพิ่มกว่า 30.79%

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเครื่องประดับทอง เพิ่ม 45.18% กลุ่มเพชรเจียระไน เพิ่ม 41.88% ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มมากถึง 89.65% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ยอดส่งออกเพิ่ม 64.32%

ซึ่งทุกวันนี้ บรรดาผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และอียู จะต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นเจาะตลาดด้วยดีไซน์ที่ตรงใจ และงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้จุดขายการรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้ตลาดเติบโตได้อีกไกล เชื่อว่าอย่างนั้น เมื่อตลาดโต ความต้องการแรงงานก็เพิ่มขึ้น ซึ่งมีข่าวออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก ยังต้องการแรงงานในกลุ่มนี้ีอีกเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทได้มาตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทยด้วย และมีแผนจะขยายโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่ง แถวเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งยังต้องการแรงงานในสาขาช่างอัญมณี อีกราว 1,000 คน

จะเห็นว่า ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ ตอนนี้น่าจับตามาก ๆ และยิ่งมีข่าวว่า สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย เตรียมหนุนสร้าง "พลอยไทย" ให้เป็น Soft Power ใหม่คู่คนไทย ภายใต้การจัดงาน Thailand Gems & Jewelry Fair 2023 ปลายเดือนนี้ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นงานเทศกาลใหญ่ของตลาดซื้อ ขายอัญมณีและเครื่องประดับไทย

การจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อสนับสนุนและสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติ ก็จะเป็นอีกแรงหนุนแรง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งการค้าที่ผู้ค้าอัญมณีที่ทั่วโลกนึกถึงเป็นอันดับแรก และน่าจะกวาดรายได้เข้าประเทศได้ปีกว่า 100,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใด ก็ไม่อาจหลีกหนีการแข่งขันไปได้ จะเห็นได้ว่า เครื่องมือในการแข่งขันของนานาประเทศในขณะนี้ จะพุ่งเป้าไปที่การสร้าง Soft Power และ Cultural Experience ถือว่า ตลาดอัญมณีน่าจับตา การทำตลาดแบบ Soft Power ก็ไม่อาจละสายตาได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง