รฟท. ฉาวอีก จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ 96.3 ล้านบาท วางทิ้งไม่ใช้งาน

View icon 758
วันที่ 14 ก.พ. 2566 | 11.16 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - จากสถานีกลางบางซื่อ สู่สถานีหัวลำโพง ที่ต้องพูดเปิดแบบนี้ เพราะห้องข่าวภาคเที่ยง เปิดประเด็นวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ปม จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี งบประมาณวงเงินเงิน 96,300,000 บาท แต่พอซื้อมาแล้ว ปรากฎว่า ถูกเก็บเอาไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์

อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องช็อตยุง วางกองทิ้งในห้องมืดที่เห็นอยู่นี้ คืออุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสก่อโรคโควิด-19 หรือ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี (UV-C) ที่มีคุณผู้ชมแจ้งเบาะแสมาให้ทีมข่าวช่วยตรวจสอบ โดยส่งข้อมูลมาบอกว่า ซื้อมาตัวละ 4 ล้านกว่าบาท แต่ทำไมจึงถูกวางทิ้งราวกับสิ่งของไร้ค่าแบบนี้

หลังได้รับแจ้งข้อมูล ทีมข่าวจึงลงพื้นที่ไปสุ่มสำรวจข้อเท็จจริงตามสถานีรถไฟต่าง ๆ และสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงแม่บ้านที่อยู่ตามสถานีรถไฟ ว่าเคยเห็นหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อหน้าตาแบบนี้ไหม แล้วก็ไปเจอว่ามีอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ เรียกกันทั่วไปว่า หัวลำโพง ถูกวางทิ้งเอาไว้แบบนี้เลย แล้วถ้าดูจากคลิปวิดีโอที่ปรากฎอยู่ตอนนี้ ก็ลักษณะเหมือนกับว่า ไม่ได้หยิบเอามาใช้งานเลยจริง ๆ

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในสถานีรถไฟหัวลำโพง เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง มีหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซีหน้าตาแบบนี้อยู่ประมาณ 7-8 เครื่อง ได้รับมาเมื่อช่วงกลางปี 2565 เพื่อให้ใช้ในการกำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 แล้วก็ไม่ได้มีแค่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ไม่ได้ใช้งาน แต่ยังมีที่อยู่ตามสถานีรถไฟอื่น ๆ อีกด้วย รวม ๆ แล้ว ประมาณ 20 เครื่อง

ขณะที่แม่บ้าน ที่ดูแลรักษาทำความสะอาดภายในสถานีรถไฟหัวลำโพง บอกว่า แต่ตั้งแต่ที่ได้รับมาเห็นว่าใช้งานแรก ๆ แล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีการใช้งานเลย และปัจจุบัน ก็ถูกวางตั้งทิ้งอยู่ตามห้องต่าง ๆ ภายในสถานีรถไฟ พอถามว่า แล้วทำไมถึงไม่เอาออกมาใช้งาน แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บอกว่า ใช้งานลำบาก ด้วยระบบที่ต้องใช้โทรศัพท์บังคับ แล้วถ้าเจอสิ่งกีดขวาง ก็ต้องเกณฑ์คน 3-4 คน มาช่วยกันยก

ทีนี้เราก็เลยให้ทีมข่าวคอลัมน์หมายเลข 7 ซึ่งเป็นคอลัมน์ตรวจสอบของช่อง 7HD ช่วยขยายผลค้นหาเพิ่มเติมแบบเร็ว ๆ ก็ไปพบข้อมูลว่า ฝ่ายการพัสดุ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ประกาศงานจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคโดยรังสียูวีซี ในระบบจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 วงเงินประมาณ 96,300,000 บาท แต่ยังไม่เห็นว่า วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการนี้ จัดซื้อในรูปแบบใด เป็นการประกวดราคาเชิญชวนทั่วไปผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ e-bidding หรือ วิธีการคัดเลือกจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งก็คือ การเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข เข้ายื่นเสนอราคา เจราจาต่อรอง

ทีมข่าวของเรา ก็เลยลองตั้งตัวเลขบนสมมติฐาน ที่ค้นเจอผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้าง ตอนประกาศจัดหาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 วงเงิน 96,300,000 บาท เอามาหารกับเบาะแสข้อมูลที่ทีมข่าวไปลงพื้นที่ไปสอบถาม แล้วได้ข้อมูลมาว่า หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคโดยรังสียูวีซี มีอยู่ประมาณ 20 เครื่อง จึงเท่ากับว่า หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคโดยรังสียูวีซี ที่เราเห็นกองเอาไว้ในห้องแบบนี้ เฉลี่ยแล้ว คิดเป็นราคาต่อเครื่อง ตกเครื่องละ 4,815,000 บาท ซึ่งก็ไปตรงกับข้อมูลที่คุณผู้ชมแจ้งเบาะแสมาในตอนต้น

หารเฉลี่ยแล้วไม่พอ เทียบให้เห็นภาพมากขึ้นอีก 1 เครื่องนี้ ก็คือบ้านเดี่ยว 1 หลัง หรือ ทาวน์เฮาส์ 2 หลัง ในปัจจุบัน แล้วดูสภาพ ราคา 4,815,000 บาท ถูกวางไม่ได้ใช้ประโยชน์แบบนี้ เสียดายมั๊ย สรุปแล้ว ก็ต้องคำถาม ว่างบประมาณที่ถูกนำเอามาใช้ วงเงิน 96,300,000 บาทนี้ เกิดประโยชน์ และใช้งานได้คุ้มค่าจริงหรือไม่

การรถไฟแห่งประเทศไทย คงต้องรีบออกมาชี้แจงการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง โครงการหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคโดยรังสียูวีซี โดยเร็ว ซึ่งตอนนี้ทีมข่าวเรา กำลังพยายามติดตามต่อไปที่ผู้บริหาร เพื่อให้ชี้แจงข้อมูล และข้อเท็จจริง

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เพิ่งจะเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม และการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" เป็นชื่อ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ตามที่ได้รับพระราชทานนาม โดยวิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง จนเจ้ากระทรวงคมนาคม อย่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต้องตั้งกรรมการสอบปมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท เลยทีเดียว

เอาเป็นว่าหลังจากนี้ เดี๋ยวคงจะมีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม สำหรับโครงการหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี ซึ่งทีมข่าวเที่ยงเปิดประเด็น และคอลัมน์หมายเลข 7 ก็กำลังช่วยกันขยายผล เจาะข้อมูลเพิ่มเติม และติดต่อไปที่การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เดี๋ยวคงมีความคืบหน้ามาให้เราได้ติดตาม ผ่านช่วงข่าว และช่องทางต่าง ๆ ของสถานี หรือที่เพจเฟซบุ๊ก Ch7HD News หรือหากคุณผู้ชมมีเบาะแสข้อมูลความผิดปกติ ก็สามารถแจ้งและส่งมาให้ทีมข่าวของเราได้ และประเด็นฟาด ๆ แบบนี้ตามต่อใน คอลัมน์หมายเลข 7 ข่าวภาคค่ำ