กทม. ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี

กทม. ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี

View icon 152
วันที่ 22 ก.พ. 2566 | 18.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กทม. ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี ตึกสูงในกรุงพร้อมรับมือแค่ไหน?

กทม. เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ชี้การออกแบบอาคารตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป มีการรองรับแผ่นดินไหวแล้ว พร้อมเก็บข้อมูลแบบแปลนอาคาร และทยอยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง ส่วนกรณีเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น สถานีดับเพลิง-กู้ภัย เตรียมพร้อมทั้งเครื่องมือ-การซักซ้อมเหตุเป็นประจำทุกปี เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
         
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่า หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกทม. ซึ่งมีตึกสูงจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติ จะมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร
         
ในส่วนของ กทม. มีภารกิจหลักด้านการดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความสำคัญต่อการเตรียมการรองรับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด อีกทั้งยังให้ความสำคัญในบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร
         
นายวิศณุ กล่าวว่า ในกทม. มีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง      

นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารที่มีอาคารเข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท ได้แก่

1. อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)

2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป)

3. อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป)

4. โรงมหรสพ

5. โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6. สถานบริการที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
         
7. อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป

9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ส่งรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี