ไวรัสมาร์บวร์ก ตรวจพบ-รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สำคัญมาก ศูนย์จีโนมฯ อธิบายอาการไข้เลือดออกรุนแรง จากติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ระยะฟักตัว 2-21 วัน
ไข้เลือดออกรุนแรง จากติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีลักษณะอย่างไร วันนี้ (23 ก.พ.66) เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล อธิบายถึงไข้เลือดออกรุนแรง จากติดเชื้อไวรัสบวร์ก โดยระบุว่าระยะฟักตัวก่อนปรากฏอาการของมาร์บวร์กคือประมาณ 2-21 วัน หลังจากได้รับเชื้อไวรัส
อาการในระยะแรกอาจรวมถึง ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อ ความเหนื่อยล้า ท้องเสีย อาเจียน อาการปวดท้อง ซึ่งอาจไปคล้ายกับอาการของติดเชื้อไวรัสหรือจุลชีพอื่น อาทิ ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้ไทฟอยด์ ไข้ลาสซา ระยะ 4-5 วันต่อมาจะมีเลือดออกหรือฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
อีโบลามีอาการทางระบบทางเดินอาหารรุนแรงขึ้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน และเลือดออกรุนแรงขึ้น เช่น เลือดออกจากตา หู และจมูก
มาร์บวร์ก เกิดอาการทางระบบประสาทที่รุนแรงกว่า เช่น สับสน หงุดหงิด และก้าวร้าว มักเกิดผื่นวันที่ 5 ซึ่งมักไม่พบในกรณีของอีโบลา
องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่าการตรวจพบและการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาหรือไวรัสมาร์บวร์ก ตั้งแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษา เพื่อรักษาชีวิตและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
เลือดออกจากการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเกิดจากความเสียหายของหลอดเลือด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากไวรัสเพิ่มจำนวนและทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือด อันทำให้หลอดเลือดรั่วและแตกออก ส่งผมให้เกิดเลือดออกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น เหงือก จมูก ตา ระบบทางเดินอาหาร
นอกจากการมีเลือดออกแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นๆ เช่น อวัยวะล้มเหลวและช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้