ขยายประเด็นดัง : ทำงานเครียดหนัก ลาออก ลาตาย หรือ ลุกขึ้นสู้

View icon 87
วันที่ 25 ก.พ. 2566 | 12.03 น.
ข่าวเด็ด 7 สี
แชร์
ข่าวเด็ด 7 สี - รอบสัปดาห์เราเห็นความสิ้นหวังในอาชีพหน้าที่การงานทั้งในวงการตำรวจ พยาบาล และคุณครู ซึ่งหากดูลึกลงไปจะพบว่าพวกเขามีความเครียดสะสมจากคนร่วมวิชาชีพที่ทั้งกดดัน กลั่นแกล้งกัน จนทุกคนตัด
สินใจยุติปัญหาตามเส้นทางของตน ซึ่งเรื่องนี้จะมีความคืบหน้า และมีวิธีรับมืออย่างไร ติดตามกับคุณปราโมทย์ คำมา

ทำงานเครียดหนัก ลาออก ลาตาย หรือ ลุกขึ้นสู้
ข่าวที่จะมาขยายให้ฟังวันนี้ต้องบอกว่า มีสาเหตุมาจากความเครียดทั้งนั้นเลย จนสุดท้ายนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตออกมาว่าคนไทยเครียดจนน่าเป็นห่วงด้วย มีวงการไหน องค์กรไหนบ้าง มาไล่เรียงกัน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องเครียด ๆ หลายเรื่อง แต่ที่มาแรงสุด ๆ คงจะเป็นเรื่องที่สิบตำรวจเอก ลาออกจากราชการ เพราะสิ้นศรัทธาในอาชีพจากหลายเหตุผลเลย ต่อมาครับ ตำรวจลาออกพยาบาลลาตาย พยาบาลสาวชาวม้ง ขอจบชีวิต เพราะถูกกลั่นแกล้ง บูลลีถึงรูปลักษณ์และชาติพันธุ์ในที่ทำงาน และเรื่องสุดท้ายผู้หญิงคนนี้ก็ออกมาตั้งคำถามตัวใหญ่ ๆ ว่าเป็นสาวโรงงานไม่มีสิทธิที่จะฝึกภาษาอังกฤษ เลยหรือ

"ส.ต.อ." ลาออก สูญสิ้นศรัทธา ระบบข้าราชการตำรวจ 
ถือว่าเป็นข่าวใหญ่เลยทีเดียวสำหรับคำว่า "หมดหวังสูญสิ้นศรัทธาในระบบข้าราชการตำรวจ" จากตำรวจนายสิบคนหนึ่งที่ตัดสินใจยื่นใบลาออกด้วยเหตุผลนี้ เพราะสิ่งที่พบเห็นในชีวิตการเป็นตำรวจของเขา คือการที่องค์กรของตัวเองปกป้องคนทำผิด ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตไม่เคยได้รับการเหลียวแล และที่สำคัญหลังจากนั้นยังออกมาเปิดเผยต่อว่า เพื่อนตำรวจด้วยกันค้ายาเสพติด แจ้งผู้บังคับบัญชาก็แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนรู้สึกละอายที่จะอยู่ในองค์กรนี้ต่อไป 

"พยาบาลสาว" ขอจบชีวิต ถูกเพื่อนร่วมงานเหยียด กลั่นแกล้ง
ส่วนเรื่องต่อมาหญิงสาวชาวเผ่าม้ง มีความใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลตั้งแต่เด็ก กระทั่งโตขึ้นเธอก็วิ่งไล่ความฝันของตัวเองได้สำเร็จ แต่หลังจากที่ได้เข้ามาอยู่ในอาชีพนี้เพียง 3 ปี สังคมในที่ทำงานกลับทำร้ายเธอ โดยเฉพาะการเหยียดหยามชาติพันธุ์ มีแต่คนคอยจ้องเอาเปรียบ จับผิด ซ้ำเติม มีการกลั่นแกล้งกัน เช่น ถูกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลขโมยรถจักรยานยนต์ของเธอไปขายจนกลายเป็นคดีความ สุดท้ายมาขอให้ไม่เอาผิด ทุกอย่างประเดประดังเข้ามา ตัดสินใจเขียนทุกอย่างลงบนกระดาษแผ่นนี้ ท้ายจดหมายทิ้งข้อความไว้ว่า "พวกคุณจะไม่มีวันแกล้งฉันได้อีก ขอโทษพ่อแม่" ใช่ และนั่นคือจดหมายลาตาย เคราะห์ดีที่ไม่เกิดเรื่องเศร้า เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ ว่าสาเหตุที่ทำให้เธออับจนหนทาง ถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่คืออะไร

"สาวโรงงาน" เปลี่ยนคำดูถูก เป็นแรงผลักดัน ฝึกพูดภาษาอังกฤษ
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของสาวโรงงาน สาวโรงงานแล้วมันทำไม จะฝึกพูดภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษา มันดูดัดจริตผิดกับการเป็นสาวโรงงานขนาดนั้นเลยหรือ ทำไมต้องไล่ให้กลับไปนั่งทำงานงก ๆ เรื่องภาษาเป็นเรื่องของคนมีการศึกษา แต่สาวโรงงานคนนี้ เธอไม่ได้นำคำพูดเหล่านั้นมาซ้ำเติมตัวเองแม้แต่น้อย แต่กลับเปลี่ยนมันเป็นแรงผลักดัน อัดคลิปตอบโต้กลับแบบสวย ๆ มีประโยคหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนจะชอบเช่นกัน เธอบอกว่า "Dont let words hurt you Only care about people who love you อย่าปล่อยให้คำพูดใครมาทำร้ายเรา จงแคร์แค่คนที่แคร์เราก็พอแล้ว" คลิปนี้กลายเป็นไวรัล สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ต้องการจะพัฒนาตัวเองได้มากเลยทีเดียว

"คุณครู" เครียดหนักทั้งงานหลักงานรอง จนป่วยซึมเศร้า
จากสามเรื่องที่เล่ามาให้ฟัง ผมมีอีกหนึ่งเรื่องที่ได้ไปพูดคุยกับคนที่พบปัญหาเหล่านี้ ทั้งการสิ้นศรัทธาในองค์กร การถูกบูลลี่ การรับผิดชอบงานที่มาพร้อมกับความเครียดและกดดัน จากแค่คิดมาก กลายเป็นเครียด จากเครียดกลายเป็นซึมเศร้าอยู่แบบนี้มา 5 ปีแล้ว เขาบอกว่าการเป็นครูนอกจากงานสอนที่ต้องทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว งานด้านอื่น ๆ ที่ตามมาก็ต้องรับผิดชอบให้ได้ด้วย จนบางครั้งอาจทำให้การสอนทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เมื่อเทียบกับความคาดหวังของตัวเอง นักเรียน ผู้ปกครอง และเกณฑ์ของการสอน ความเครียดและความกดดันทั้งหมดจากงานที่ทำ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคทางจิตเวช เขาบอกว่าเรื่องงานถือว่าเป็นสาเหตุมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์

คราวนี้พาคุณผู้ชมมาดูกันหน่อยว่าคนไทยเครียดกันขนาดไหน และช่วงอายุใดที่พบว่ามีความเครียดสูงที่สุด ก็มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตออกมา จริง ๆ ก็ไม่ได้น่าตกใจเท่าไหร่ เพราะวัยที่เครียดมากที่สุดตอนนี้คือ คนที่อายุระหว่าง 20-29 ปี มีความเครียดเพิ่มสูงถึง 11.11 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ 3 เปอร์เซนต์ และเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าสูงถึง 13.61 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกลุ่มคนช่วงอายุ 30 ถึง 39 ปี ที่ก็พบว่ายังคงมีความเครียดค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ดี และนี่เป็นเพียงข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว จนถึง 19 กุมภาพันธ์ปีนี้ เพียงช่วงสั้น ๆ ไม่กี่เดือน พบประชาชนมีความเครียดและเสี่ยงซึมเศร้าเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว

กรมสุขภาพจิตเป็นห่วง คนไทยเครียดสูงเกินค่าเฉลี่ย
ซึ่งทางทีมข่าวเราสอบถามไปยังโฆษกกรมสุขภาพจิต สาเหตุที่เป็นช่วงวัยนี้ เพราะคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาทำงานในระบบมากขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 สงบลง จึงอาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ส่วนวิธีการจัดการกับความเครียดจากงาน มีหลายวิธีตามความเหมาะสมของแต่ละคน และมีวิธีไหนบ้าง

จากเหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดเชื่อว่าน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนทำงานทุกคน ได้ตระหนักถึงการจัดการกับความเครียดไม่ให้มันมาทำร้ายเรามากจนเกินไป งานคือเงิน เงินสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือสุขภาพ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323

ข่าวที่เกี่ยวข้อง