คอลัมน์หมายเลข 7 : ชำแหละ ต้นทองอุไร จ.พังงา ต้นละกว่า 6,000 บาท

View icon 341
วันที่ 7 มี.ค. 2566 | 20.11 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ชำแหละโครงการปรับภูมิทัศน์คลองพังงา หลังเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ภาพต้นทองอุไร ราคากว่า 6,000 บาท แห้งเหี่ยว ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เวลา 1 เดือน ก่อนสรุปผล ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

ข้อความตั้งคำถาม สื่อถึงการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการดำเนินการจัดทำโครงการ ว่ามีการทุจริตเงินทอนหรือไม่ คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในสังคมไทย ที่สื่อสะท้อนออกมาผ่านเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน หลังโพสต์ภาพและข้อความ ต้นทองอุไร ราคาต้นละกว่า 6,000 บาท ส่วนหนึ่งของโครงการปรับภูมิทัศน์คลองพังงา ปลูกอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด โดยจัดซื้อมาทั้งหมดประมาณ 37 ต้น รวมเป็นเงินกว่า 225,000 บาท

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เวลานี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ก่อนสรุปผลว่าโครงการนี้มีความผิดปกติหรือไม่

จากการลงพื้นที่ติดตามของทีมข่าว พบว่า ต้นทองอุไร ปลูกกระจายอยู่โดยรอบคลองระบายน้ำ แต่ละต้นมีขนาดที่แตกต่างกัน ระดับความสูงมีตั้งแต่ 50 เซนติเมตร ไปจนถึง 2.5 เมตร ขณะที่บางต้น อยู่ในสภาพที่แห้งเหี่ยว ถูกหญ้าปกคลุมจนแทบมองไม่ออก

เมื่อสำรวจร้านขายต้นไม้ในพื้นที่ พบว่า ราคาต้นทองอุไร ขนาดต้นไม่ถึง 1 เมตร ขายอยู่ในราคา 100 บาท ส่วนต้นขนาดใหญ่ ขายอยู่ในราคา 700-800 บาท

ทีมข่าวยังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่สำนักงานโยธาธิการจังหวัดพังงาเป็นเจ้าภาพ โดยใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ ป้องกันการพังทลายของดิน มีการเสนอโครงการและก่อสร้างตามปีงบประมาณ 2564-2565 ซึ่งตรงกับช่วงที่ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และในรายละเอียดของสัญญาจ้างก่อสร้าง ระบุข้อมูลว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทรงามวัสดุภัณฑ์ ซึ่งจดทะเบียนในนามนิติบุคคล

เมื่อพยายามจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา ได้รับคำอธิบายชี้แจงเบื้องต้น ยอมรับว่า ต้นทองอุไรทั้งหมด 37 ต้น ที่ปลูกไปแล้วนั้น มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์เพียงแค่ 6 ต้นเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 31 ต้น มีสภาพอย่างที่เห็น โดยที่ผ่านมาทางหน่วยงานได้ทำหนังสือแจ้งผู้รับเหมาไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม แต่ว่าทางผู้รับเหมายังไม่เข้ามาดำเนินการ ขณะที่งบประมาณโดยรวมทั้งโครงการ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพังงา จะเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้น คู่ขนานไปกับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดพังงา

ไม่ว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะออกมาเป็นเช่นไร แต่จากภาพที่ปรากฎ ก็ปฏิเสธเรื่องความเสียหายได้ยาก นี่จึงเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนย้ำเตือนให้กับผู้มีอำนาจในการใช้จ่ายเงินงบประมาณและเงินภาษีของประชาชน ซึ่งจะต้องบริหารใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ อย่าให้ถูกครหาได้ว่า มีการเบียดบัง หรือ ถลุงเงินของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง