คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดรายชื่อ 7 จนท.โยธาฯ เกี่ยวข้องงานปรับภูมิทัศน์คลองพังงา 30 ล้านบาท

View icon 669
วันที่ 9 มี.ค. 2566 | 20.12 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ เปิดรายชื่อคณะกรรมการตรวจรับการจ้างโครงการปรับภูมิทัศน์คลองพังงา มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ขณะที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา ยืนยัน ดำเนินการจัดทำโครงการตามระเบียบราชการ ท่ามกลางข้อกังขาว่ามีการทุจริตหรือไม่ ติดตามเรื่องนี้กับคุณสุธาทิพย์ ผาสุข

เสียงที่ได้ยินไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นคำชี้แจงบางช่วงของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา ซึ่งให้สัมภาษณ์กับคอลัมน์หมายเลข 7 หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำโครงการปรับภูมิทัศน์คลองพังงา มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดในการดำเนินการ

โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกต ราคาต้นทองอุไร จำนวน 37 ต้น ซึ่งจัดซื้อมาในราคาต้นละ 6,090.50 บาท ราคาต้นรวงผึ้งจำนวน 2 ต้น จัดซื้อมาในราคา 40,197.30 บาท

และการปลูกหญ้าในพื้นที่ 7.5 ไร่ ในราคารวม 587,350.92 รวมถึงการจัดซื้อน้ำพุพร้อมอุปกรณ์ครบวงจร 1 ชุด เป็นเงิน 6,000,560 บาท

ซึ่งเจ้าหน้าที่ อ้างว่า ในราคาดังกล่าวนี้ มีค่าดำเนินการดูแลขนส่งจากต้นทางที่จังหวัดปราจีนบุรีด้วย รวมถึงเงินค่าประกันสัญญา

จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ยังพบว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองพังงา หมู่ 3 ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา มีรายการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดจำนวน 32 รายการ โดยใช้วิธีคัดเลือก โดยขณะนั้น มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 6 ราย ทั้งหมดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทในพื้นที่จังหวัดพังงา แต่ผู้ที่ได้งานโครงการนี้ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทรงาม วัสดุภัณฑ์ มี นายไพบูลย์ เฆมจันทร์ ลงนามเป็นผู้รับจ้าง เริ่มทำสัญญาวันที่ 21 ตุลาคม 2564 เสร็จสิ้น 19 สิงหาคม 2565 และ นายสุวิทย์ พันธ์เสงี่ยม โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลรายชื่อของคณะกรรมการจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และผู้ควบคุมงานในโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองพังงา โดยเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ดำเนินการสอบสวน

ข้อมูลและข้อพิรุธมากมาย ซึ่งเป็นข้อกังขาที่ปรากฏขึ้นเวลานี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งต้องรอการสรุปผล โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เวลา 1 เดือน ก่อนสรุปผล เช่นเดียวกับองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผนึกกำลังร่วมตรวจสอบว่า มีการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ และการไม่ปฏิบัติตามกฎตามระเบียบตามกติกาหรือไม่ โดยจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล เพื่อดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง