เลือกตั้ง 2566 : กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง - พรรคการเมืองเตรียมหาเสียง

View icon 31
วันที่ 17 มี.ค. 2566 | 11.21 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศของ กกต. หลายพรรคการเมืองออกมาประสานเสียง ขอให้ กกต.ทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากการแบ่งเขตครั้งนี้ เป็นการรวมแขวงจากเขตต่าง ๆ เพื่อมารวมเป็น เป็นเขตเลือกตั้ง อาจขัดกฎหมาย และเอื้อประโยชน์บางพรรค และท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

กกต. ออกประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดทั้งสิ้น 77 จังหวัด รวม 400 เขตเลือกตั้ง และเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตามกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ในมาตรา 27 ได้ระบุไว้ว่า ให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้รวมอําเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง คํานึงถึงพื้นที่ ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน คำนึงถึงความสะดวก ในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แต่ถ้าการรวมอําเภอในลักษณะนี้ จะทําให้มีจํานวนราษฎรมาก หรือน้อยเกินไป ให้แยกตําบลของอําเภอนั้นออก เพื่อให้ได้จํานวนราษฎรเพียงพอ สําหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตําบลไม่ได้

แต่เมื่อดูการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ กกต. มีมติให้ใช้รูปแบบที่ 1 ที่กำหนดจำนวน สส. พึงมีได้ 33 คน จำนวนเฉลี่ยราษฎร 160,000 กว่าคน ต่อ สส. 1 คน จะพบว่า มีเพียง 6 เขตเลือกตั้งเท่านั้น ที่ยกเขตปกครองมาเป็นเขตเลือกตั้ง โดยไม่มีการตัดแขวงออก ส่วนที่เหลือเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบผสม ที่มีทั้งในรูปแบบเต็มเขตและตัดแขวง หรือ แบบไม่มีเต็มเขตเลย อาทิ เขตเลือกตั้งที่ 9 ที่ไม่มีเต็มเขตเลย โดยมีเขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคม) และเขตหลักสี่ (เฉพาะแขวงตลาดบางเขน) ซึ่งลักษณะเดียวกันนี้ ยังมีในอีกหลายเขตเลือกตั้ง ทั้งเขตเลือกตั้งที่ 12, 13, 17 และ 18

ยกตัวอย่าง 1 เขต ในเขตเลือกตั้งที่ 32 มีการตัดแขวงออกมาจากเขตถึง 5 เขต เพื่อมาประกอบเป็นเขตเลือกตั้งเดียว ซึ่งใน 5 เขตปกครองที่ถูกตัดแขวงออกมา ประกอบด้วย ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน ธนบุรี บางกอกน้อย และบางกอกใหญ่ โดยมีเพียงบางกอกใหญ่เขตเดียว ที่ไม่ถูกตัดแขวง

กรณีนี้บานปลายจนพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องแบ่งเขต นำเป็นการยื่นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ยืนยัน กกต. ทำถูกกติกาและกฎหมาย เพราะจำนวน สส.เขตมีการเปลี่ยนแปลงจาก 350 เป็น 400 เขต และการแบ่งเขตจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน ความแตกต่างต้องไม่เกินร้อยละ 10 จากจำนวนประชากร 163,000 คน โดยรวมไม่น่าเป็นปัญหา อาจยากลำบากกับนักการเมือง พรรคการเมือง จึงต้องเปลี่ยนแผน เป็นการเริ่มต้นใกล้เคียงกันทุกพรรคการเมือง

แม้หลายพรรคจะบอกว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ กระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้ง และอาจขัดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเดินหน้า เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. ตามเดิม อย่างพรรคพลังประชารัฐมีกำหนดแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัคร สส.กทม. ครบทั้ง 33 เขต พร้อมเปิดเวทีปราศรัยในเย็นวันพรุ่งนี้ 18 มีนาคม ที่ลานคนเมือง

ซึ่งงานนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกกับชาวกรุงเทพมหานครด้วย เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่จะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส.กทม. ทั้ง 33 เขต พร้อมเปิดนโยบายเพื่อคนกรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทยได้เคยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. ไปแล้วบางส่วน ซึ่งย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อไทย