สายตรงวงใน - วันนี้มีสองประเด็นมาฝาก ว่าด้วยเรื่องของเพดานการเมือง อั้นกันที่ตัวเลขไหน และมาย้อนอดีตดู ให้รู้ถึงปัจจุบันกันหน่อยว่า มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานมูลนิธิฯ มีดีอะไร ทำไมนักการเมืองถึงชอบไปกันจัง
เริ่มกันที่เพดานการเมือง ตัวเลขแรกนี่เชื่อว่าทุกคนทราบกันดีว่า มีความหมายมากในเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ 250 เสียง ของสมาชิกวุฒิสภา เพดานนี้ แค่งดออกเสียง ก็อาจดับฝันแคนดิเดตในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ไปไม่ถึงฝั่งได้
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงเพิ่มเพดานการบินของตัวเองจาก 250 เสียง เป็น 310 เสียง ก็เพราะหวังว่า ถ้าได้เสียงถล่มทลายขนาดนั้น หาเสียงจากพรรคอื่นมาเติมอีก 65 เสียงก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือจะไปถึง 310 เสียงได้อย่างไรมากกว่า
แต่ถ้าเราย้อนดูประวัติของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ไม่เคยได้ สส.เกิน 300 คน เพราะในสมัยที่เป็นไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ได้รับการเลือกตั้งมากถึง 376 ที่นั่ง จากจำนวนสส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง เอาชนะคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไปแบบขาดลอย ตอนนั้นคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ได้ สส. 96 ที่นั่ง ทำให้กลายเป็นพรรคการเมืองแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่สามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี โดยชนะการเลือกตั้งติดต่อกันถึงสองครั้ง
แต่สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น แตกต่างจากขณะนี้มาก เพราะคุณทักษิณ ในตอนนั้น เรียกว่ามาแรงมาก ได้รับความนิยมแบบล้นหลาม จากการใช้การตลาดนำการเมือง ประกอบกับมีการดึง สส.จากพรรคการเมือง เข้าสังกัดแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อนเลย อย่างเช่น กลุ่มชลบุรี ของคุณสนธยา คุณปลื้ม และกลุ่มบุรีรัมย์ ของคุณเนวิน ชิดชอบ ซึ่งในปัจจุบัน คุณสนธยา ก็กลับไปซบรังเดิมอีกรอบ เหลือแต่คุณเนวิน กับวาทกรรม "มันจบแล้วครับนาย" ที่ยังเดินคนละทางกับพรรคเพื่อไทยอยู่
และไม่ใช่แค่ดูด สส.แบบยกก๊วนเท่านั้น ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยในขณะนั้นได้ สส.มากถึง 376 ที่นั่ง แต่ยังมีการควบรวมหลายพรรคเข้ามาด้วย ถึงขั้นที่เขาบอกกันว่าเป็นตำนาน "ซื้อยกเข่ง เซ้งยกพรรค" กันเลย เริ่มจาก 14 เสียงของพรรคเสรีธรรม ตามมาด้วย 33 เสียงจากความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนาอีก 29 เสียง และยังมีพรรคเล็กอื่น อีกหลายพรรค ทำให้พรรคไทยรักไทยมี สส.เพิ่มจากการเลือกตั้ง 256 คน เป็นมากกว่า 300 คน ก่อนที่จะลงสนามเลือกตั้งครั้งที่สอง กวาด สส.มาได้ 376 ที่นั่งอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่นี้
อันนี้เป็นเพดานตัวเลขของพรรคเพื่อไทยที่วางเอาไว้ คราวนี้มาดูเพดานตัวเลขที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องก้าวข้ามให้ได้เหมือนกันก็คือ ตัวเลข 52
ตัวเลขนี้สำคัญยังไง สำคัญตรงที่เป็นจำนวน สส.ที่ได้มาในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ถ้าครั้งนี้ได้น้อยกว่าเดิม ก็อาจไปต่อไม่ไหว ต้องโบกมือลาตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่เจ้าตัวและผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน ยังมั่นใจได้ไปต่อ คาดการณ์ว่าจะได้ สส.ไม่น้อยกว่า 55 ที่นั่ง บางคนพูดตัวเลขไปถึง 70 ที่นั่งเลยด้วยซ้ำ
จากเพดานตัวเลขของประชาธิปัตย์ มาดูอีกซักพรรค ไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคใหม่ที่ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดขาย พรรคนี้ก็มีตัวเลขที่ต้องไปให้ถึงเหมือนกัน คือเลข 25 เพราะถ้าได้ สส.มาไม่ถึง 25 คน ก็จะไม่สามารถเสนอชื่อคนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับแกนนำพรรค ก็มั่นใจได้ สส.ไม่น้อยกว่า 40 ที่นั่ง
ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็เรียกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ สส.ตุนไปไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็เป็น สส.จากพรรคประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐ และยังมีโอกาสได้เพิ่มอีก แม้ว่าเวลาของการย้ายพรรคจะเหลือน้อยเต็มทีแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน ก็จะเป็นการวางกลยุทธ์ดึงคะแนนจากประชาชน ล่าสุดมีการปล่อยคลิปที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย
จากเรื่องเพดานการเมืองว่าด้วยตัวเลขของแต่ละพรรคการเมือง มาดูเรื่อง มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า บ้านป่ารอยต่อกันบ้าง สัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏเป็นสถานที่ที่ถูกมองว่า ปิดดีลการเมืองหรือเปล่าเพราะมีภาพคุณอนุทิน ชาญวีรกูล คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ และคุณชาดา ไทยเศรษฐ ไปร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับพลเอกประวิตร เรียกว่าบรรยากาศชื่นมื่นเลย
อีกภาพเป็นบรรยากาศล้อมวงกินข้าว ระหว่างคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน กับพลเอกประวิตร และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการตั้งวงอำลาก็ได้ เพราะทั้งสอง ตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย แล้ว
ทีนี้เรามาดูกันหน่อยว่า ทำไมบ้านป่ารอยต่อ ถึงมีนักการเมืองแวะเวียนไป ชนิดที่เรียกว่า หัวกระไดไม่แห้ง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ที่นี่ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพลเอกประวิตร เลย เพราะท่านก่อตั้งขึ้นมาในปี 2549 หลังเกษียณอายุราชการในปี 2548 จากนั้นก็กลายเป็นสถานที่นัดพบของพี่น้อง 3 ป. ทั้งพลเอกประวิตร พลเอกประยุทธ์ และพลเอกอนุพงษ์
ดีลสำคัญการเมืองหลายอย่างจึงถูกมองว่าเกิดที่นี่ โดยเฉพาะเมื่อพลเอกประวิตร กระโดดเข้าสู่การเมืองเต็มตัว เข้ามาบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่แห่งนี้ก็กลายเป็นจุดนัดพบของ สส.พรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังเป็นที่ส่งเทียบเชิญให้พลเอกประวิตร นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย จนเป็นเหตุให้มีการนำเรื่องไปร้องต่อกระทรวงมหาดไทยให้ตรวจสอบว่า ผิดวัตถุประสงค์การก่อตั้งมูลนิธิฯ ที่ระบุชัดเจนว่า ต้องไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่
และมีอีกเหตุการณ์ที่ถูกระบุว่า บ้านป่ารอยต่อเป็นสถานที่ปิดเกมล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564
ยังจำกันได้ใช่มั้ย การอภิปรายในครั้งนั้น ผู้กองธรรมนัส เป็นหัวเรี่ยว หัวแรงในการโค่นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไม่สำเร็จ สุดท้ายก็เลยจบลงที่การถูกนายกรัฐมนตรี ปลดฟ้าผ่า แต่ทั้งสองคนในตอนนี้ยังเป็นกำลังสำคัญให้กับพลเอกประวิตร เพื่อสู้ศึกในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
อันนี้ต้องเรียกว่าเป็นอดีตที่รุ่งโรจน์เลยของบ้านป่ารอยต่อ ซึ่งก็ต้องบอกว่าสถานที่คงไม่สำคัญเท่ากับเจ้าของสถานที่ แต่มีคำถามเหมือนกันว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ บ้านป่ารอยต่อ จะยังหัวกระไดไม่แห้งเหมือนเดิม หรือจะกลายเป็นมูลนิธิที่ร้างไร้ผู้คนไปเยี่ยมเยือน จะเป็นแบบไหน คงต้องรอดูบารมีของเจ้าของสถานที่หลังเลือกตั้ง ว่ายังเหมือนเดิมหรือเปล่า
เพราะถ้าแกะจากวรรคทองของคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่บอกถึงสาเหตุของการย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยว่า "เป็นเพราะดินฟ้าอากาศเปลี่ยน ก็ต้องดำเนินการให้เข้ากับสภาพอากาศ" ข้อความนี้ ก็มีหลายคนไปตีความเหมือนกันว่า เป็นการส่งสัญญาณกลาย ๆ หรือเปล่า ว่าเก้าอี้รัฐมนตรีสมัยหน้าอยากไปนั่งที่กระทรวงเกษตรฯ ประมาณว่าหว่านเมล็ดพันธุ์ด้วยการย้ายพรรค จบที่เก้าอี้รัฐมนตรีใช่มั้ย
จะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องวัดกันที่จำนวน สส.หลังการเลือกตั้งด้วย ว่าจะมีน้ำหนักมาพอให้ต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน สำคัญกว่านั้นคือ พรรคเพื่อไทย จะฝ่าด่านตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตามการคาดการณ์ของคุณสมศักดิ์จริงหรือไม่ด้วย
ย้ำกันอีกครั้ง อย่าเพิ่งเบื่อการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมือง ตอนนี้ใกล้เลือกตั้งเข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว เป็นวาระคนไทย ที่ต้องไปใช้สิทธิ กำหนดอนาคตชาติ หยุดขายเสียง จุดเปลี่ยนประเทศ และนี่คือทั้งหมดของคมการเมือง กับสมจิตต์ นวเครือสุนทร